วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ให้สินบนจับผู้ร้ายลอบวางเพลิง (๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา รายงานตัวเหมือนเดิมครับท่าน

วันนี้วันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปี วันหยุดสำหรับพี่น้องหลายๆ คน แต่ก็เหมือนเดิมครับตำรวจเรายังคงทำงานรับใช้และบริการพี่น้องประชาชนตามปกติตลอด ๒๔ ชั่วโมง มีอะไรจะให้พวกเราัรับใช้ก็มิพักต้องเกรงใจไปเลยนะขอรับ พวกเราพร้อมเสมอสำหรับพี่น้องอันเปนที่รักยิ่งของเรา "ตำรวจไทย"

แหม เปิดบทความวันนี้ด้วยสำบัดสำนวนเก่าๆ อีกแล้ว เนี่ยะ มีพี่น้องหลายคนบอกผมทางเครื่องมือสื่อสารไร้สายซึ่งยุคเก่าไม่มีแลสมัยปัตตยุบันนี้เรียก "โทรศัพท์" ว่า "พี่สุพจน์เขียนเรื่องเก่ามากไปหรือเปล่าเลยทำให้ใช้คำเก่าๆ ไปโดยมิรู้ตัว" เอ้อ คงจะเป็นเยี่ยงนี้แน่แท้กระมัง ผมเองใช้คำเก่าๆ ไปโดยมิรู้ตัวอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน แต่ก็ดีนะครับผมว่า อย่างน้อยที่สุดเราชนรุ่นหลัีงจะได้รู้ว่าศัพท์แสงของคนรุ่นเก่าๆ น่ะใช้แบบใด แล้วก็รวมไปถึงจุดประสงค์หลักของผมเองด้วยที่บล็อกนี้นอกจากจะบันทึกหรือเผยแพร่การปฏิบัติงานแต่ละวันแต่ละช่วงว่าทำอะไรไปบ้างแล้วถ้าวันไหนมีเวลาว่างมากหรือไม่มีผลการปฏิบัติที่เป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นวันหยุดผมก็จะนำเรื่องราวอื่นๆ มาเล่ามาบอกกันทุกวันดั่งเช่นที่พี่ๆ น้องๆ หากติดตามมาตลอดคงจะรู้ดี แล้วเรื่องราวอื่นๆ ที่มิใช่การปฏิบัติงานประจำวันของผมนั้นแน่นอนครับย่อมไม่พ้นเรื่องของ "ตำรวจ" ไปได้ เพราะผมเป็นตำรวจย่อมรู้เรื่องตำรวจค่อนข้างดีกว่าพี่น้องอาชีพอื่น ครั้นจะเขียนเรื่องเลี้ยงปลา ปลูกข้าวก็ไม่ชำนาญ ต่อให้เอาหนังสือมาให้อ่านเป็น ๑๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่มจ้างก็เขียนไม่ได้ดั่งมืออาชีพเขาเลยต้องเป็นเรื่อง "ตำรวจ" ที่ผมคุ้นเคย

เรื่อง "ตำรวจ" นี้พี่น้องสามารถหาอ่านตามสื่อต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์,นิตยสาร หรือแม้กระทั่ง Internet แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวยุคปัตตยุบันเสียมากกว่า ผมก็เลยขออนุญาต "ฉีกแนว" ออกมาโดยเขียนเรื่องตำรวจซึ่งเป็น "ตำรวจยุคก่อน" ที่พี่น้องส่วนใหญ่ไม่ค่อยไ้ด้ยินได้ฟังหรือได้อ่านกันมากนัก รวมถึงขอเน้นอีกครั้งนะครับว่าการเขียนของผมจะมี "หลักฐาน" มาอ้างมาอิงทุกครั้งเพื่อจะได้รู้ว่าที่มาที่ไปนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่เขียนหรือ "โม้" เอาคนเดียว หลักฐานที่ว่านี้แน่นอนครับ "ราชกิจจานุเบกษา" นั่นเองซึ่งเมื่อเปิดดูแล้วผมว่านะผมยังเหลืออายุราชการอีกไม่กี่พันวันต่อให้เขียนวันละเรื่องสองเรื่องโดยนำข้อมูลมาจากราชกิจจาฯ เมื่อปลดชราฤาที่ศัพท์แสงสมัยปัตตยุบันเรียกว่า "เกษียณอายุราชการ" แ้ล้วก็หาอาจเขียนได้หมดไม่ เลยปวารณาตนว่าจะเขียนเรื่องลักษณะเช่นนี้ต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ โอ้....กระไรจะขนาดนั้น

โม้มานานแล้วเดี๋ยวจะเบื่อกันซะเปล่าๆ ปลี้่ๆ ขอเข้าเรื่องเลยดีกว่า วันนี้วันหยุดไม่มีผลการปฏิบัติมาฝากเพราะได้หยุดกับเขาเหมือนกัน (เย้ ดีใจจัง) แต่ข้อมูลความเคลื่อนไหวในบล็อกผมไม่หยุดต้องมีทุกวัน แล้วจะเขียน(พิมพ์)เรื่องอะไรดีล่ะ อ้า จะยากไย เปิดราชกิจจาฯ เหมือนเดิมซึ่งมีมากมายนับไม่้ถ้วนเลยครับ ดูไปดูมา เอ้อ เอาเรื่องนี้ดีกว่า "ประกาศให้สินบนจับผู้ร้ายลอบวางเพลิง" ซึ่งประกาศในราชกิจจาฯ เล่ม ๒๓ หน้า ๑,๑๐๐-๑,๑๐๑ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ (พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๔๔๙ ปี,ผู้เขียน) แต่ก่อนจะอ่านต่อไปผมอยากให้ท่านลองถามตัวเองดูก่อนนะครับว่าเรื่องนี้น่ะ "เคยได้ยินไหมจ๊ะ" แน่นอน แทบร้อยทั้งร้อยจะตอบว่า "ไม่เคยจ้ะพ่อเจ้าประคุณรุนช่อง" แต่จะได้ยินในช่วงนี้ค่อนข้างบ่อยโดยเฉพาะเรื่องการประกาศจับคนร้ายคดีสำคัึญๆ ที่ตำรวจภูธรภาค ๗ เป็นคนริเริ่มก่อนด้วยปฏิทินจนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วบ้านทั่วเมืองและจับผู้ต้องหาได้หลายคนเลยทีเดียว ต่อจากนั้นมาก็มีการจัดทำประกาศแบบนี้ออกเผยแพร่กันหลายหน่วยอย่างเช่นของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดที่ผมนำภาพมาให้ดูประกอบในครั้งนี้ หากพี่น้องท่านใดพบเจอคนในประกาศนี้ก็อย่าลืมแจ้งตำรวจด้วยนะครับเพราะนอกจากจะนับว่าท่านช่วยเหลือราชการและสังคมได้เป็นอย่างดียิ่งแล้วท่านยังได้เงินรางวัลสินบนอย่างงามอีกด้วย ฝากไว้นะครับผม

เอ้า แล้วสมัยก่อนเขาประกาศกันแบบไหน ประกาศที่ใด พี่น้องประชาชนรู้ได้เยี่ยงไร ไม่ยากครับ ก็เป็นการพิมพ์ประกาศลงบนกระดาษนั่นแหละแล้วก็เอาประกาศนั้นไปติดตามที่ต่างๆ ที่มีผู้คนอยู่กันจำนวนมากเพื่อจะได้เห็นเยอะๆ แล้วประกาศเหล่านี้ถ้าเป็นเรื่องสำคัญๆ ทางการจะตีพิมพ์ลงราชกิจจาฯ เป็นหลักฐานด้วยก็อย่างที่ผมนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนบทความชิ้นนี้นั่นเอง ประกาศฉบับนี้เป็นกระแสพระบรมราชโองการของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เรื่องสินบล(สินบน)จับผู้ร้ายลักลอบวางเพลิงซึ่งมีใจความสรุปได้ดังนี้

ในยุคสมัยนั้นมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นหลายรายและต่อเนื่อง ได้ทรงพระกรุณาให้ไต่สวนและจัดการระวังโดยกวดขันแต่ก็ยังมีเหตุเกิดขึ้นอีกเช่นที่สี่กั๊กเสาชิงช้าซึ่งเป็นไฟที่คนจีนลูกจ้างเจ้าของร้านจุดขึ้นแต่จับคนทำผิดไม่ได้ , ไฟไหม้บ้านภรรยาหลวงฤทธิ์ (พุด) ซึ่งได้ความว่าผู้เช่าโรง(บ้าน)โกรธเจ้าของโรงแกล้งตั้งตะเกียงไว้ข้างมุ้งเพื่อจะให้เกิดเพลิงไหม้ คนร้ายรายนี้ถูกจับได้ในเวลาต่อมา แ่ต่ก็ยังมีที่เหตุไฟไหม้นั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อไม่ระมัดระวังเท่าที่ควร ส่วนบางรายก็ยังเป็นที่สงสัยว่ามีคนร้ายลักลอบกระทำแต่ก็ไม่ได้เค้าเงื่อนที่ชัดเจน

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจึงทรงมีพระราชดำริห์(ดำริ)ว่า ถ้ากำลังพลตระเวน(ตำรวจ)ระงับไว้ไม่อยู่ ก็จะทรงให้กรมทหารบก ทหารเรือออกลาดตระเวนและสอดแนมจับตัวผู้ร้ายทิ้งไฟ(ลักลอบวางเพลิง) ให้จงได้ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกทหารเรือได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว

นอกจากนี้ยังทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่าถ้าเจ้าของบ้านเรือนหรือบุคคลผู้ใดจับผู้ร้ายทิ้งเพลิงได้ให้นำมาส่งยังกระทรวงนครบาล หรือจะนำส่งกรมยุทธนาธิการ กรมทหารเรือ กรมพระตำรวจก็ได้ แล้วให้กรมที่รับคนซึ่งสงสัยว่าเป็นคนร้ายนั้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบและส่งไปพิจารณายังศาลตามกระทรวง เมื่อพิจารณาได้ความว่าเป็นคนร้ายทิ้งเพลิงจริงจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้จับเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท และจะลงพระราชอาญาผู้ทิ้งเพลิงถึงสาหัส ท่านลองพิจารณาดูนะครับว่าเงิน ๑,๐๐๐ บาทสมัยนั้นมากมายขนาดไหน ถ้าเทียบกับยุคนี้ผู้ได้รับคงเป็นเศรษฐีย่อมๆ แน่นอน

แต่การจะได้รับเงินรางวัลนั้นเป็นเฉพาะเรื่องการทิ้งไฟหรือวางเพลิงโดยเจตนาเท่านั้น หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากความประมาทก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ประกาศนี้

ด้วยความทรงพระเมตตาที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านตลอดเสมอมา ในท้ายกระแสพระบรมราชโองการนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศตักเตือนเจ้าของบ้านเรือนโรงและผู้ที่เช่าเรือนโรงทำมาหากินโดยสุจริตให้ตั้งใจระวังป้องกันในการจุดเพลิงติดเพลิงเพื่อทำกิจการหรืออาศัยแสงสว่างอย่าให้ไฟนั้นอยู่ในที่ล่อแหลมหรือใช้ภาชนะไม่สมควรก่อหรือจุดไฟเพราะอาจลุกลามไปที่อื่นหรือล้มแตกทำลายได้ง่าย เมื่อตามเพลิง(จุดไฟ)ไว้แห่งใดก็ให้ระวังผูกใจไว้ที่แห่งนั้น หลังเสร็จสิ้นธุระแล้วให้ดับเสียให้หมดเชื้อ อย่าทิ้งไว้โดยความมักง่าย ถ้าเจ้าของบ้านเจ้าของทรัพย์ระวังเพลิงที่ตนเองก่อหรือจุดไว้และคอยสอดแนมจับตัวผู้ร้ายซึ่งสงสัยว่าจะมาจุดมาวางเพลิงประกอบกับการซึ่งเจ้าพนักงานจะลาดตระเวนระวังรักษา ไฟที่ไหม้เนืองๆ นี้คงจะสงบได้เป็นแน่ และให้ผู้ซึ่งได้ทราบหมายประกาศนี้บอกเล่าต่อๆ กันไป ให้ประพฤติตามกระแสพระบรมราชโองการซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศมานี้ทุกประการ

ครับ นั่นก็คือเรื่องราวของการประกาศให้สินบนนำจับผู้ร้ายเมื่อยุค ๑๐๐ ปีก่อนของไทยเรา ซึ่งหวังว่าคงจะเกิดประโยชน์หรือเป็นความรู้แก่พี่น้องอยู่บ้างตามสมควร

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การจับโจรผู้ร้ายห้ามมิให้ราษฎรหวาดหวั่น (๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา ครับผม

วันนี้วันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปี วันสุดท้ายในการทำงานเดือนนี้สำหรับหลายๆ วันพรุ่งนี้และมะรืนนี้เป็นวันหยุดที่อาทิตย์นี้หยุดติดต่อกันมาถึง ๔ วันเต็ม พี่น้องหลายคนคงจะมีความสุขพอสมควร แต่อย่าลืมเสียล่ะช่วงนี้เทศกาลเข้าพรรษา อย่าลืมลด ลด เลิก อบายมุข สิ่งเมามัวต่างๆ ในช่วงนี้ด้วยจะเป็นการดียิ่งเลยทีเดียว

เนื่องจากวันนี้เป็นวันสิ้นเดือนซึ่งจะต้องเร่งรัดดำเนินการเรื่องต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเอกสารเสียมากกว่าให้เสร็จสิ้นเพื่อเตรียมการณ์สำหรับเดือนใหม่ที่จะถึง ในช่วงเช้าจนถึงเวลานี้ผมจึงไม่ได้ออกจากโรงพักไปไหนเ้ลย ช่วงเช้าเวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น.ก็มีการประชุมนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมพูดถึงเสียเป็นส่วนใหญ่ ตอนบ่ายก็มาจัดการเอกสารข้อมูล แผนงาน โครงการกันต่อจนเสร็จ ก็ต้องขอบคุณพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ตำรวจ สภ.พานทุกคนที่ร่วมไม้ร่วมมือกันทำอย่างขยันขันแข็งผ่านบล็อกนี้มาด้วยนะครับ

สะสางการงานต่างๆ เสร็จแล้วตอนนี้ไม่มีอะไรทำก็เลยขออนุญาตนำสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องราวเก่าๆ ของตำรวจเราในอดีตมาเล่าให้ฟังหน่อย สำหรับข้อมูลที่จะเล่านั้นผมนำมาจากราชกิจจานุเบกษาดังเช่นปกติโดยขอต่อยอดจากเมื่อวานครับ เรื่องที่จะเล่าก็คือ "การจับโจรผู้ร้ายห้ามมิให้ราษฎรหวาดหวั่น" ซึ่งประกาศในราชกิจจาฯ เ้ล่ม ๗ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ หรือปี พ.ศ.๒๔๓๓ สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ใจความในประกาศฯฉบับนี้มีดังนี้ (ขออนุญาตใช้ถ้อยคำและการสะกดตามที่ประกาศครับ)

"ด้วยนายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บัญชาการทหารบก รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่ผู้ว่าราชการเมือง กรมการ แลราษฎรในหัวเมืองทั้งปวงให้ทราบทั่วกันว่าหัวเมืองทั้งปวงมีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเกิดโจรผู้ร้ายปล้นสดมฟันแทงยิงกันตายชุกชุมขึ้นกว่าแต่ก่อน ตั้งมั่้วสุมประชุมเปนหมู่ๆ เหล่าๆ คนที่รุ่นหนุ่มขึ้นก็มักจะเข้าเปนโจรผู้ร้ายตามกันไป ไม่ตั้งทำมาหากินโดยสุจริตมีโดยมาก ราษฎรในหัวเมืองได้ความเดือดร้อนเพราะโจรผู้ร้ายเนืองๆ ความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว จึ่งทรงพระราชดำริห์ว่า การที่จะรงับปราบปรามโจรผู้ร้ายซึ่งเปนหมู่เปนเหล่าโตๆ เที่ยวไปมาในหัวเมืองต่างๆ เช่นนี้ ถ้าจะตั้งข้าหลวงออกไปชำระแต่ฉเพาะเมืองใดเมืองหนึ่งเปนเมืองๆ ไป พวกโจรผู้ร้ายก็มักจะหลบหลีกข้ามเขตรแขวงไปอยู่เสียในเมืองซึ่ืงไม่มีข้าหลวงไปตั้งอยู่ การโจรผู้ร้ายจึ่งปราบปรามไม่สงบลงโดยเร็วได้ โดยทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎรเพื่อจะให้ตั้งทำมาหากินอยู่เย็นเปนศุขปราศจากโจรผู้ร้ายซึ่งจะทำอันตรายแก่ชีวิตรแลทรัพย์สมบัติ ฤาให้เปนที่หวาดหวั่นไม่เปนอันทำมาหากินโดยสดวก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองจับผู้ร้ายออกมาเที่ยวตรวจจับผู้ร้ายในครั้งนี้ ด้วยทรงพระราชดำริห์เห็นว่าคนซึ่งไปเปนโจรผู้ร้ายนั้นย่อมมีหัวน่าเปนผู้ชำนาญในการโจรกรรม ได้เคยประพฤติชั่วมาช้านาน เปนครูบาอาจารย์ชักชวนคนหนุ่มๆ ให้เข้าประพฤติเปนโจรผู้ร้ายสมัคพรรคพวกไปด้วยเหมือนฝึกหัดไปโดยลำดับจนคนใหม่ๆ ได้ทำการชั่วเคยไป ใจที่เปนพาลสันดานทุจริตก็เกิดขึ้นตามลำดับจนไม่กลับประพฤติดีได้ การที่จะออกจับโจรผู้ร้ายครั้งนี้ถึงว่าในคำสั่งว่าผู้ร้ายซึ่งไม่มีโจทย์กล่าวโทษ แต่สืบสวนได้ความแน่ชัดว่าเปนผู้ร้ายมีชื่อเสียงปรากฏ มีฝีมือก็ให้กองจับจับส่งไปพิจารณาเปนช่องกว้างกว่าที่จับผู้ร้ายทุกครั้งก็ดีก็แต่ได้มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้กำชับกองจับให้จับแต่ผู้ซึ่งเปนหัวน่า เปนตัวผู้ร้ายได้ลงมือปล้นสดมยิงฟันแทง แลกองพิจารณาก็ให้พิจารณาเลือกสรรเอาแต่ตัวผู้ร้ายที่ได้ทำการโจรกรรมเปนฉกรรจมหันต์โทษที่แท้จริง อย่าให้ผู้ซึ่งประพฤติการสุจริตซึ่งจะต้องซัดทอดถึงโดยความริศยาพยาบาท ต้องจับกุมให้ได้ความเดือดร้อน ด้วยอาไศรยการสืบสวนปากคำตามราษฎรประกอบเปนหลัก เพราะฉนั้นบันดาราษฎรผู้ซึ่งทำมาหากินโดยสุจริต มิได้ประพฤติเปนโจรผู้ร้ายลงมือปล้นสดมยิงฟันแทงผู้หนึ่งผู้ใด อย่าให้มีความหวาดหวั่นสดุ้งสเทือนว่าจะต้องมีอันตรายเพราะต้องผู้ร้ายซัดทอดอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ตั้งทำมาหากินอยู่ตามถิ่นถาน อย่าให้ละทิ้่งภูมลำเนาไปให้ได้ความลำบากยากแค้นเปนอันขาด

ประกาศมา ณ วันที ๑๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ เปนวันที่ ๘๑๓๒ ในรัชกาลประจุบันนี้"

ครับ นี่ก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นสมัยล้นเกล้าฯ รัฃกาลที่ ๕ ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2433/047/426_1.PDF

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประกาศให้จับผู้ร้าย (๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา ครับผม

วันนี้วันพฤหัสบดีแรม ๓ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปี อยู่ในต้นๆ ของเทศกาลเข้าพรรษาที่พุทธศาสนิกชนหลายๆ ท่านใช้ในโอกาสนี้ลด ละ เลิก อบายมุข สิ่งลุ่มหลงเมามัวต่างๆ เพื่อสร้างกุศลผลบุญให้แก่ตัวเอง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือการปวารณาตนว่าจะเลิกเหล้า ยาดองของเมาอย่างน้อยที่สุดก็ ๓ เดือนเิพื่อร่างกายจะได้พักผ่อนบ้างหลังจากตรากตรำกับสิ่งเหล่านี้มาถึง ๙ เดือนเต็มๆ ก็ขอเป็นกำลังใจให้อีกแรงหนึ่งนะครับ

วันนี้ตั้งแต่เช้าผมไม่ได้ออกจากโรงพักไปไหนเลยเพราะต้องสะสางจัดการเกี่ยวกับเอกสารกองใหญ่เต็มโต๊ะ รวมถึงจัดเตรียมข้อมูล แผนงาน โครงการและอะไรอีกเยอะแยะที่จะทำในเดือนต่อไปให้แล้วเสร็จซึ่งทุกๆ ปลายเดือนงานของผมจะเป็นแบบนี้นี่แหละ แต่ก็สนุกและได้รสชาติไปอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้เสร็จแล้วก็เลยขอถือโอกาสนี้นำเรื่องราวต่างๆ ของตำรวจเราในอดีตมาเล่าให้ฟังในบล็อกนี้อีกสักเรื่องหนึ่งตามที่ได้สัญญากันไว้ โดยเรื่องที่จะเล่านี้ขอต่อยอดมาจาก "กองจับโจรผู้ร้าย" ที่นำเสนอให้อ่านกันเมื่อวันเข้าพรรษาที่ผ่านมาซึ่งขออนุญาตใช้หัวข้อตามประกาศฯนะครับว่า "ประกาศให้จับผู้้ร้าย" แล้วก็เช่นเคยครับข้อมูลที่จะนำมาเล่านั้นผมนำมาจากราชกิจจานุเบกษาเหมือนทุกๆ ครั้ง เิพราะจะได้มีหลักฐานอ้างอิงถึงที่มาที่ไปได้ รวมถึงท่านสามารถค้นคว้าหาอ่านเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องอีกส่วนหนึ่งด้วย

พี่น้องทุกท่านครับ "กองจับโจรผู้ร้าย" ที่ผมนำมาเล่าเมื่อวันเข้าพรรษานั้นประกาศเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๒๙ สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เมื่อประกาศแล้วกองจับทั้ง ๒๐ กองก็ออกปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายซึ่งก็ได้ "โจรผู้ร้าย" มาจำนวนหนึ่งแต่ก็ยังไม่เป็นที่พึงพระราชประสงค์นัก อาณาประชาราษฎรยังไม่วายหวั่นกลัวและสะดุ้งสะเทือนต่อภัยโจรเป็นที่เร่าร้อนพระราชหฤทัยยิ่ง ด้วยทรงพระเมตตาแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ผู้มีความเดือดร้อนหวาดหวั่นจากภัยโจรที่จะต้ิองอยู่เฝ้าดูแลรักษาบ้านเรือนทำให้ยุ่งยากลำบากใจ จึงทรงมีพระราชดำริว่าถ้าการปราบปรามโจรผู้ร้ายครั้งนี้ไม่สงบราบคาบลงตราบใดก็จะเป็นที่เร่าร้อนพระราชหฤทัยไม่ทรงสบายได้เลย ดังนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าบรรดาพระบรมวงศานุวงษ์แลข้าราชการที่มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นกองจับก็ตามก็ขอให้ตั้งพระทัยตั้งใจช่วยกันสืบสวนแต่งคนออกสอดแนมเอาตัวคนร้ายมาลงโทษรวมถึงสืบทราบให้รู้แหล่งพำนักพักพิงของคนร้ายด้วยกันทุกคน ถ้าได้ความมั่นคงและมีกำลังพอที่จะจับตัวคนร้ายมาได้ก็ให้จับ แต่ถ้าไม่มีกำลังพอก็ให้ไปแจ้ังต่อกรมพระนครบาลหรือกองจับทั้ง ๒๐ กองไปจับกุม หรือมิฉะนั้นก็ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบก็ได้เพื่อจะได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปจับตัวมาพิจารณา

ในกรณีที่ผู้ร้ายถูกจับกุมตัวมาให้การว่าเป็นข้าเป็นบ่าวไพร่ของพระบรมวงศานุวงษ์พระองค์ใดหรือข้าราชการผู้ใด หรือมูลนายทราบว่าบ่าวไพร่ของตนเป็นผู้ร้ายก็ให้รีบจับตัวมาส่งให้ตุลาการพิจารณารวมทั้งช่วยกันสืบเสาะเอาตัวมาให้ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถจึงจะนับว่าเป็นผู้มีความกตัญญูซื่อตรงต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แต่ถ้าพระบรมวงศานุวงษ์หรือข้าราชการผู้ใดทราบว่าใครเป็นคนร้ายหรือรู้แหล่งพำนักพักพิงหรือเป็นบ่าวไพร่ขึ้นสังกัดกับตนเองแต่เพิกเฉยเสียไม่คิดอ่านสืบเสาะติดตามตัวมาหรือไม่นำความมาแจ้งต่อกองจับและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกปิดไว้ด้วยความรัก ความกลัว ความแกล้ง ความเกียจคร้าน ไม่เจ็บร้อนด้วยการแผ่นดินจะนับว่าผู้นั้นขาดน้ำพระพิพัฒนสัตยา มิได้มีความกตัญญูซื่อตรงต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทซึ่งเป็นที่ทรงร้อนพระราชหฤทัยด้วยทรงพระมหากรุณาแก่ประชาราษฎร เพราะฉะนั้นบรรดาพระบรมวงศานุวงษ์และข้าราชการที่รับทราบหมายประกาศนี้แล้วให้รีบเร่งแต่งข้าไทยบ่าวไพร่ออกสืบสวนเอาตัวและข่าวคราวอ้ายผู้ร้ายให้ได้ดังพระราชประสงค์ก็จะเป็นความชอบแต่ตนเองต่อไปภายหน้า

เรื่องนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันเสาร์ เดือนสิบ ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีจออัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ เป็นวันที่ ๖๕๐๙ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ (๑๕ ตุลาคม ๒๔๒๙ , ผู้เขียน)

ครับ นั่นก็คือเรื่องสืบเนื่องต่อจาก "กองจับโจรผู้ร้าย" ที่ผมนำมาเล่าให้่ฟังกันในวันนี้

(ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2429/024/188.PDF)

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบริการประชาชน (๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

วันนี้ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.เป็นต้นไป ผมพร้อมกับเจ้าหน้าที่สายตรวจรถยนต์ซึ่งประกอบด้วย ด.ต.ถวิล เนตรคำ และ ด.ต.ณรงค์ชัย กลิ่นหอม ได้เดินทางออกตรวจเยี่ยมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบริการประชาชนดังนี้



เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.ตรวจหน่วยบริการประชาชนตำบลป่าหุ่งพบ ด.ต.สุธิพงษ์ จินะธรรม (คนซ้ายมือของผม) อยู่ปฏิบัติหน้าที่









เวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น.ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการประชาชนตำบลสันกลางพบ ด.ต.สิทธิ์ จุ๋มป๋า (คนขวามือสุดของภาพ)อยู่ปฏิบัติหน้าที่










เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น.ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการประชาชนตำบลเจริญเมืองพบ ด.ต.เฉลิมชัย วิรัชลาภ อยู่ปฏิบัติหน้าที่


การตรวจครั้งนี้พบว่าความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของอาคารที่ทำการอยู่ในเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจ ในส่วนของเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นข้อมูลท้องถิ่น,สมุดประจำหน่วยฯ,สมุดประจำวันและอื่นๆ เจ้าหน้าที่จัดทำไว้ได้ค่อนข้างสมบูรณ์มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยังไม่ครบถ้วนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลท้องถิ่นที่เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเร็วๆ นี้ได้แนะนำเจ้าหน้าที่ให้เร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

ในส่วนของภารกิจและแนวคิดที่มอบหมายแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจครั้งนี้นั้นสรุปได้ดังนี้

๑. การทำงานในหน้าที่ของตำรวจเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งตู้ยามหรือหน่วยบริการประชาชนอย่างหนึ่งก็คือการออกพบปะเยี่ยมเยียน พูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบจากพี่น้องประชาชน จึงขอให้ใช้เวลาเท่าที่จะสามารถทำได้ออกพบปะเยี่ยมเยียนด้วย

๒. ให้ถือหลักการที่ว่า "วิสสาส ปรมา ญาติ" หรือ "ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง" เพราะหากตำรวจเราสามารถคุ้นเคยหรือเข้ากับพี่น้องประชาชนได้แล้วจะมีอีก หลายๆ อย่างตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้อมูลข่าวสารที่สำคัญๆ

๓. การเป็นตำรวจจะทอดทิ้งพี่น้องประชาชนไม่ได้ หากเรามีพี่น้องอยู่ในใจของเรามากเท่าไรความสำเร็จในงานก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น

๔. พี่น้องประชาชนนั้นถือว่าเป็นญาติสนิทยิ่งของตำรวจ เพราะฉะนั้นตำรวจเราจะห่างเหินจากการพบปะเยี่ยมเยียนไม่ได้ ต้องหาเวลาเท่าที่จะสามารถทำได้ออกพบปะพี่น้องอย่างสม่ำเสมอ

๕. ไม่ว่ายศตำแหน่งของตำรวจจะเป็นอย่างไรนั่นเป็นเพียงส่วนภายในปลีกย่อยของตำรวจ จะต้องถือว่าพี่น้องประชาชนทุกคนใหญ่และสำคัญกว่าตำรวจเราเสมอ

เจ้าหน้าที่ทั้ง ๓ หน่วยบริการฯ รับทราบ

<< ภาพประกอบ (๑๐๐ ภาพ // ภาพที่ผมนำมาฝากวันนี้นอกจากจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผมในการตรวจเยี่ยมแล้วยังมีภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยสดงดงามของอำเภอพานตามเส้นทางที่ผ่านอีกด้วย น่าดูมากเลยครับ) >>









ช่วงท้ายนี้ขอนำเรื่องราวเก่าๆ ของตำรวจเราเมื่อครั้งอดีตมาบันทึกไว้สำหรับหลายๆ ท่านที่สนใจใคร่รู้เหมือนเดิม โดยผมจะนำมาเฉพาะหัวข้อที่เกี่ยวข้อง หากท่านต้องการดูรายละเอียดให้คลิกที่หัวข้อนั้นๆ ได้เลยเพราะสร้าง Link ไว้ให้แล้วครับ


ขอบคุณครับผม

ตั้งจุดตรวจที่หน่วยบริการประชาชนตำบลแม่เย็น (๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

วันนี้ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น.เป็นต้นไปผมพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยบริการประชาชนตำบลแม่เย็นรวม ๗ คนร่วมกันตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าหน่วยบริการฯเพื่อระงับยับยั้ง ตรวจค้นบุคคลผู้ต้องสงสัยและจับกุมผู้กระทำผิดตามแผนการตรวจประจำวัน

การตั้งจุดตรวจครั้งนี้พวกเราถือปฏิบัติตามมาตรการการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัดของกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) ตามหนังสือที่ ๐๖๒๕.๒๓/๓๗๗๙ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๐ อย่างเคร่งครัด ซึ่งมาตรการดังกล่าวนั้นที่สำคัญๆ และเกี่ยวข้องกำหนดไว้ดังนี้

* การปฏิบัติหน้าที่ ณ ด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัดจะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้าและต้องแต่งเครื่องแบบ

* ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว การปฏิบัติในการตรวจค้น จับกุม ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีว่าด้วยการนั้นโดยเคร่งครัด

* ที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า "หยุด" โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ด่านหรือจุดตรวจ

* จะต้องมีการติดตั้งป้ายและเครื่องหมายการจราจร และในเวลากลางคืนจะต้องให้มีแสงไฟส่องสว่างให้มองได้เห็นชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตรก่อนถึงจุดตรวจ และให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำด่านตรวจและจุดตรวจดังกล่าว นอกจากนั้นให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า "หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบให้แจ้งผู้บังคับการ โทร......" (ให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์ของ ผบก.ไว้) ข้อความดังกล่าวข้างต้นให้มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕ เมตร

* การตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัด ให้ทุึกหน่วยประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยใกล้เคียงให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบติดต่อกัน โดยมิให้เกิดการตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดซ้ำซ้อนอันเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมาเป็นอันขาด

(รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการเรื่องนี้กรุณาคลิกดูได้ที่นี่)

เสร็จสิ้นการตั้งจุดตรวจครั้งนี้เมื่อเวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น.

<< ภาพประกอบ (๒๘ ภาพ) >>

เพิ่มเติม :

ขออนุญาตนำเรื่องราวเก่าๆ ที่น่าสนใจของตำรวจเรามาฝากไว้หน่อยโดยรายละเอียดของเรื่องนั้นๆ ท่านสามารถคลิกดูที่ข้อความได้เลยผมสร้าง Link ไว้ให้แล้วครับ

ประวัติจมื่นศักดิ์แสนยากร [(อยู่) ปลัดกรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย]

ประวัติพระพรหมาภิบาล (โป๊ะ) เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ฝ่ายพระราชวังบวร

แจ้งความกระทรวงมหาดไทยเรื่องให้นายร้อยเอก หลวงไกรกลางณรงค์ รับราชการตำแหน่งนายร้อยเอก ผู้ตรวจการกรมตำรวจภูธร

ข้อบังคับว่าด้วยอำนาจและกำหนดสำหรับลงโทษตำรวจภูธร

พระบรมราชโองการประกาศศักดินาตำรวจภูธร

ประกาศกระทรวงมหาดไทยประกาศเรียกคนเข้าเป็นตำรวจภูธรในมณฑลพายัพ มณฑลอุดร มณฑลอิสาน มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลปัตตานี มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร มณฑลภูเก็ต

ประกาศกระทรวงมหาดไทยประกาศใช้ข้อบังคับวิธีเรียกคนเข้ารับราชการเป็นตำรวจภูธรในเมืองตราด มณฑลจันทบุรี

แจ้งความกระทรวงมหาดไทยเรื่องสร้างถนนตั้งแต่โรงพักตำรวจภูธรในเมืองยวมถึงหน้าวัดจองสูงสายหนึ่ง

พระบรมราชโองการประกาศยกกรมพระตำรวจรวมเข้าอยู่ในกระทรวงวัง

แจ้งความกระทรวงวังเรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ตราตำแหน่งสำหรับผู้บังคับการตำรวจภูธร ๒ ดวง

ตำแหน่งหน้าที่ราชการพระยาอนุชิตชาญไชย เป็นสมุหพระตำรวจ

แจ้งความกรมพระตำรวจเรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชทรงแต่งพระองค์ได้อย่างข้าราชการในกรมพระตำรวจ ชั้นที่ ๒ เอก

ประกาศกระทรวงทหารเรือ [พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องหมายตราพระแสงโล่ห์เขนที่มุมบนหน้าช้างในธงราชการสำหรับกรมตำรวจภูธร]

ประกาศเรียกคนเป็นทหารในมณฑลพายัพ มณฑลอุดร มณฑลอิสาณ ตามข้อบังคับการเรียกคนเข้ารับราชการเป็นตำรวจภูธร ร.ศ.๑๒๖

พระราชบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องพระธรรมนูญศาลทหารบกว่าด้วยตำรวจภูธร รัตนโกสินทร ศก ๑๓๑

ข้อบังคับทางการตำรวจภูธรขึ้นศาลทหารบก ร.ศ. ๑๓๑

พระบรมราชโองการประกาศพระยาอนุชิตชาญไชย ลาออกจากตำแหน่งสมุหพระตำรวจ และตั้งพระยาราชวัลภานุศิษฎ์ เป็นสมุหพระตำรวจแทน

แจ้งความกระทรวงมหาดไทยเรื่องย้ายหลวงไชยสงครามมารับราชการในตำแหน่งปลัดกรมซ้ายในกรมตำรวจภูธร หลวงเสนาภักดี ข้าหลวงมหาดไทย มณฑลกรุงเก่า หลวงเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงมณฑลนครราชสีมา

แจ้งความกระทรวงวังเรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายพันโท พระราญรอนอริราชผู้ช่วยสมุหพระตำรวจแต่งเครื่องแต่งตัวกรมพระตำรวจ

แจ้งความกระทรวงมหาดไทยเรื่องซื้อเครื่องดับเพลิงให้แก่กองตำรวจภูธรเมืองนครลำปาง

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องประกาศตั้งอธิบดีกรมตำรวจภูธร

ประกาศกรมตำรวจเรื่องตั้งตำแหน่งยศกรมตำรวจภูธร วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

ประกาศกระทรวงวังเรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช แต่งเครื่องยศขุนตำรวจเอก กรมพระตำรวจเป็นพิเศษ

พระราชทานยศพระตำรวจวันที่ ๒๔ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ พระราชทานยศให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรเป็นพระตำรวจตรี

ประกาศกระทรวงวังให้พระระบำภาษาแต่งเครื่องยศกรมพระตำรวจชั้นขุนตำรวจตรี


ขอบคุณครับ

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กองจับโจรผู้ร้าย (๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา รายงานตัวครับผม

วันนี้วันอังคารแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ หลังปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งนั่นก็ํคือ "วันเข้าพรรษา" ซึ่งพระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนด ๓ เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่าจำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ของทุกปี (หรือเดือน ๘ หลังถ้ามีเดือน ๘ สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา

ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง ๓ เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือมีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วยเพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา

ในอดีตชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวชจะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง ๓ เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา" นอกจากนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมายังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง ๓ เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษาเพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย ก็ขอชวนเชิญทุกท่านลด ละ เลิก อบายมุขสิ่งมั่วเมาทั้งหลาย ทำจิตใจให้เป็นกุศลตลอดช่วงเข้าพรรษานี้โดยทั่วกัน

วันนี้เป็นวันหยุดราชการซึ่งหยุดติดต่อกันถึง ๔ วัน หลายคนหลายท่านคงจะมีความสุขรวมถึงมีกำลังวังชาแลจิตใจที่เปี่ยมล้นด้วยกุศลจากการเข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ฟังธรรม ทำบุญ รวมถึงน้อมนำเอาธรรมะคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นหลักหรืิอแนวทางในการดำเนินชีวิตในช่วงนี้กันพอสมควร แล้วก็เหมือนเดิมครับไม่ว่าจะเป็นวันหยุดหรือไม่ก็ตามบล็อกของผมจะนำข้อมูลข่าวสาร สาระ สิ่งดีๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาฝากกันทุกวัน สำหรับวันนี้เนื่องจากเป็นวันหยุดซึ่งผมมีโอกาสหยุดกับเขาด้วยเลยไม่มีเรื่องราวในโรงพักมาเล่ามาบอก จึงขอนำเสนอเรื่องราวเก่าๆ ของตำรวจที่หลายคนคงไม่เคยได้ยินได้ฟังที่ไหนมาก่อนมาเล่าให้ฟังแทนโดยเรื่องที่จะเล่านั้นเป็นเรื่อง "กองจับโจรผู้ร้าย" ครับ

ท่านสาูธุชนผู้มีจิตอันเปนกุศลทั้งหลายครับ การที่หมู่ชนรวมกลุ่มอยู่กันเป็นจำนวนมากนั้นย่อมมีทั้งคนดีแลไม่ดีปะปนกันไปไม่ว่ายุคใดสมัยใด โชคดีอยู่อย่างที่คนไม่ดีมีน้อยกว่าคนดีมากมิฉะนั้นสังคมคงอยู่ไม่รอดจนถึงปัจจุบัน แล้วคนไม่ดีนี่ก็ต้องมีการลงโทษลงทัณฑ์กันตามโทษานุโทษแห่งการกระทำหรือแยกออกจากสังคมเสียชั่วระยะเวลาหนึ่งรวมถึงอาจต้องตัดออกจากสังคมไปเลยก็มีบ้างในบางครั้งหากเรื่องที่ไปก่อนั้นรุนแรงหรือสร้างความเสียหายแก่สังคมอย่างใหญ่หลวง เช่นตัดสินโทษให้จำคุก,ปรับ,ริบทรัพย์สิน หรือประหารชีวิต สำหรับหน้าที่กำราบปราบปรามจับกุมผู้ทำผิดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของตำรวจเสียมากกว่าแต่ก็มีอยู่บ้างที่บางยุคบางสมัยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นด้วยแต่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจ

การทำงานของตำรวจทุกยุคทุกสมัยนอกจากจะทำงานตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้แล้ว บางครั้งอาจให้มีหน้าที่หรืองานบางอย่างเป็นการเฉพาะนอกเหนือจากหน้าที่ปกติตามสภาพการณ์ที่ปรากฏในยุคหรือห้วงนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือท่านคงจะเคยได้ยินว่ามีการจัดตั้ง "ชุดเฉพาะกิจ" เรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาสำหรับทำหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว "ชุดเฉพาะกิจ" นั้นก็จะถูกยกเลิกไป ในยุคก่อนก็เช่นเดียวกันนั่นก็คือเรื่องที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ "กองจับโจรผู้ร้าย" ซึ่งเกิดขึ้นสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕

เรื่องนี้มีข้อมูลปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓ หน้า ๑๗๙-๑๘๑ ซึ่งประกาศมาแต่ ณ วังอังคาร เดือนสิบ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจออัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ (ตรงกับวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๙,ผู้เขียน) สรุปใจความได้ว่าช่วงระยะเวลานั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้นมากในกรุงเทพฯ ซึ่งทรงราชดำริว่าแต่ก่อนมานั้นหากทางการว่างเว้นการสืบสวนติดตามจับกุมปราบปรามผู้ร้ายซักระยะหนึ่งก็จะมีโจรผู้ร้ายออกปล้นสะดม ฉกชิงวิ่งราวประชาชนอยู่เสมอ แต่ถ้าเร่งรัดปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้ายก็จะซาๆ ลงไป เป็นเช่นนี้ตลอดเสมอมา แล้วก็ช่วงนั้นเองที่ปรากฏว่ามีโจรผู้ร้ายชุกชุมและเกิดขึ้นถี่เป็นพิเศษ ประชาราษฎรของพระองค์เกิดความเดือดร้อนแสนสาหัสจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงหรือข้าราชการที่มีหน้าที่ออกติดตามปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้ายมาดำเนินคดีทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใกล้เคียง แต่พอออกปราบปรามจับกุมผู้ร้ายในหัวเมืองใกล้เคียงพวกนี้ก็หนีกลับมาในกรุงเทพฯ และก่อการกำเริบปล้นสะดมฉกชิงวิ่งราวประชาชนอีกสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ทีนี้ราษฎรที่ถูกปล้นฉกชิงวิ่งราวบางรายก็ต้องจับมีดจับปืนขึ้นต่อสู้เป็นการป้องกันทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง แล้วก็มีบ้างที่บางครั้งอาจมีการพูดจาบอกกล่าวให้ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ควรจะเป็น ลักษณะก็คือสร้างเรื่องให้ใหญ่โตผิดจากความจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นที่หวาดหวั่นพรั่นพรึงแก่ผู้ไม่รู้ความจริงและประชาชนตกใจจนเกินเหตุ

เพื่อมิให้ราษฎรของพระองค์ท่านหวาดหวั่นพรั่นพรึงจนเกินไปรวมถึงมีพระราชประสงค์จะให้กำราบปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้ายมาลงโทษตามกระบิลเมืองให้ได้มากที่สุดและเหตุการณ์สงบลงโดยเร็วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง "กองจับโจรผู้ร้าย" ขึ้นในกรุงเทพฯ จำนวน ๒๐ กองด้วยกัน โดยโปรดเกล้าฯ ให้จางวางเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจในพระบรมมหาราชวังแลพระราชวังบวรรวมทั้งเจ้ากรมอาสาหกเหล่าบางนาย (กรมอาสาหกเหล่าเป็นอย่างไรผมจะสืบค้นข้อมูลมาเล่าให้ทราบภายหลัง) เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ "กองจับโจรผู้ร้าย" ทั้ง ๒๐ กองนี้ให้แบ่งไปทำหน้าที่ทางด้านตะวันตก,ตะวันออก,เหนือ และใต้ฝ่ายละ ๕ กอง มีหน้าที่สืบสวนสอดแนมจับตัวโจรผู้ร้ายปล้นสะดมฉกชิงฟันแทงทั่วกรุงเทพฯ (ในราชกิจจาฯ ใช้คำว่า "แขวงจังหวัดกรุงเทพฯ , ผู้เขียน) เพื่อเอาตัวมาทำโทษให้ได้โดยเร็ว ถ้าจับตัวโจรผู้ร้ายมาได้ก็ให้พิจารณาเอาความจริงว่ากระทำอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ หากเป็นจริงก็ต้องถูกลงโทษลงทัณฑ์ตามกระบิลเมืองและโทษานุโทษที่กระทำลงไป

เมื่อผมอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็รู้สึกปลื้มปีติยินดียิ่งที่เกิดมาเป็นคนไทยภายในพระบรมโพธิสมภารขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่คนไทยทุกคนล้วนประจักษ์ชัดแจ้งดีแล้วในความทรงมีพระเมตตากรุณาแก่พสกนิกรของพระองค์ท่านไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใดตั้งแต่เรามีเมืองไทยซึ่งปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขมาจนถึงบัดนี้ เพราะในราชกิจจาฯ นี้มีตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า "ถ้ากองจับไปจับคนที่ไม่ได้เปนโจรผู้ร้ายกระทำการกดขี่คุมเหง (ข่มเหง,ผู้เขียน) ราษฎรซึ่งทำมาหากินโดยสุจริตประการใด ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งพระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการเปนกอมมิตตี (committee (กรรมการ,คณะกรรมการ,ผู้เขียน)) สำหรับรับเรื่องราวกล่าวโทษกองจับ ให้นั่งประชุมในพระบรมมหาราชวังกองหนึ่ง ถ้าผู้ใดจะกล่าวโทษกองจับว่ากดขี่คุมเหงผิดด้วยยุติธรรมประการใด ให้มายื่นเรื่องราวต่อที่ประชุมในพระบรมมหาราชวัง ให้นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระแล้ว ให้กอมมิตตีเร่งพิจารณาตัดสินให้แล้วเสรจเพียงสามวันเจดวัน ถ้ากองจับไปทำการคุมเหงราษฎรที่ประพฤติโดยสุจริตจะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ" นี่ครับ พวกเราจะเห็นถึงพระเมตตาที่เปี่ยมล้นด้วยความรักความผูกพันต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านซี่งทุกพระองค์ได้ทรงปฏิบัติตลอดต่อเนื่องกันมาจวบจนถึงล้นเกล้าฯ รัชกาลปัจจุบัน

ทีนี้ก็ต้องมีบ้างครับที่คนซึ่งเป็นโจรผู้ร้ายจริงๆ กลั่นแกล้งกล่าวหาผู้จับว่าตนเองไม่ใช่คนร้ายหรือผู้กระทำผิดแต่กองจับกลั่นแกล้ง แล้วจะทำอย่างไร ในราชกิจจาฯ เรื่องเดียวกันนี้ระบุไว้ว่า "ถ้าผู้ร้ายมาแกล้งร้องแก้เกี้ยวเพื่อจะชักถ่วงหน่วงความให้ช้า จะได้ลงพระราชอาญาชั้นหนึ่ง แล้วให้พิจารณาความเดิมต่อไปให้แล้วโดยเร็ว" นี่ก็แสดงว่าหากมีการกระทำผิดจริงๆ แล้วผู้กระทำต้องได้รับพิจารณาโทษอย่างแน่นอนไม่มีทางเลี่ยงบาลีเป็นอย่างอื่นได้

ในราชกิจจาฯ ยังได้กำหนดถึงโจรผู้ร้าย,ผู้ที่รู้จักหรือให้แหล่งพำนักพักพิงแก่ผู้ร้ายไว้ด้วยโดยมีข้อความว่า "ถ้าผู้ใดได้ประพฤติเปนโจรผู้ร้าย ฤาได้รู้จักเปนเจ้าสำนักนิ์หลักแหล่ง ผู้รู้ตัวกลัวความผิดมาลุแก่โทษต่อกองจับ รับนำส่งพวกเพื่อนที่ได้ทำโจรกรรมด้วยกัน ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานลดหย่อนผ่อนโทษให้ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ผู้ใดเป็นเจ้าสำนักนิ์หลักแหล่งผู้ร้าย รู้เหนแล้วช่วยปิดบังโจรผู้ร้าย จะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ ถ้าผู้ใดถูกโจรผู้ร้ายมาทำประการใดๆ ฤาทราบว่าโจรผู้ร้ายอยู่แห่งใดก็ให้มาแจ้งความต่อกองจับกองใดกองหนึ่งใน ๒๐ กองนี้ จะได้ไปคิดจับตัวโจรผู้ร้ายมาทำโทษเสียให้เข็ดหลาบ ให้ราษฎรเปนศุขทั่วกัน"

จะเห็นว่านอกจากจะกำหนดให้มี "กองจับโจรผู้ร้าย" เพื่อจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังให้ราษฎรผู้รู้แหล่งหลบซ่อนหรือรู้เห็นเป็นใจกับผู้ร้ายมาบอกมาแจ้งความหรือกลับเนื้อกลับตัวไม่กระทำผิดต่อไปแล้วก็จะได้รับการลดหย่อนผ่อนลงโทษตามส่วนอีกด้วย

ครับ นั่นก็คือประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งในเรื่องการจัดตั้ง "กองจับโจรผู้ร้าย" ของไทยเราในช่วงยุค ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา

หลายท่านอาจจะมีคำถามว่าเวลานี้หรือในยุคปัจจุบันวงการตำรวจของเรามี "กองจับโจรผู้ร้าย" หรือไม่ ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดินลักษณะคำต่อคำก็คงบอกว่า "ไม่มี" แต่หากพิจารณาเนื้อความถ้อยคำแล้วผมตอบได้เลยว่า "มี" มีแน่นอนครับ เอ้อ ที่ว่ามีน่ะมีแบบไหนกัน อ้า..ผมจะเฉลยให้ฟัง

ถ้าท่านย้อนไปอ่านตอนต้นๆ ของบทความนี้จะเห็นว่าผมเขียนคำคำหนึ่งไว้ว่า "ชุดเฉพาะกิจ" (เป็นอย่างไรลองย้อนอ่านดูอีกครั้งนะครับ) "ชุดเฉพาะกิจ" นี่แหละที่อาจะเปรียบเทียบกับคำว่า "กองจับโจรผู้ร้าย" ได้เป็นอย่างดี คือวงการตำรวจเราน่ะนอกจากงานปกติที่ทำกันทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว บางครั้งอาจจะมีเรื่องอะไรพิเศษซักอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องระดมกำลังคน,กำลังสมอง,ความคิดสติปัญญาร่วมไม้ร่วมมือทำเพื่อให้งานนั้นบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายโดยเร็ว มีอยู่บ่อยๆ นะครับที่ท่านอาจเห็นตามสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ เช่นจัดตั้งชุดเฉพาะกิจติดตามจับกุม...ซึ่งเป็นคนร้ายฉกรรจ์มาลงโทษให้ได้ อะไรประมาณนี้นี่แหละ แล้วก็อีกอย่างที่พวกเราตำรวจะต้องทำทุกปี เอาเป็นว่าตั้งแต่ผมจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจและมารับราชการก็เจอเรื่องนี้จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เลิกไปนั่นก็คือทุกๆ ฤดูแล้ง (ประมาณมีนา-เมษาช่วงนี้) ซึ่งเป็นช่วงที่พี่น้องส่วนใหญ่ว่างเว้นจากงานประจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะกำหนดให้สถานีตำรวจทุกแห่งจัดทำแผนและปฏิบัติการในเรื่อง "แผนปราบปรามโจรผู้ร้ายฤดูแล้ง" ขึ้นมา เพราะช่วงนี้มักมีขโมยขโจรและการกระทำผิดเกิดขึ้นบ่อยกว่ายามปกติเพื่อมิให้ราษฎรหรือพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของคนร้าย ช่วงฤดูแล้งปีนี้ผมก็เข้าแผนนี่เหมือนกันและคิดว่าคงจะยังมีแผนนี้อยู่ตลอดไป ซึ่งนั่นก็เปรียบเสมือน "กองจับโจรผู้ร้าย" ในยุคล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้นั่นเอง

หวังว่าข้อเขียนของผมวันนี้คงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านสาธุชนนผู้มีจิตอันเปนกุศลทั้งหลายอยู่บ้างตามสมควร

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สาระน่ารู้เกี่ยวกับตำรวจ (๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา ครับผม

วันนี้่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปีเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของเราวันหนึ่งนั่นก็ีัคือ "วันอาสาฬหบูชา"
ซึ่งหมายถึงการบูชาในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกโดยการแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จนพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนาจึงถือว่าวันนี้เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นครบองค์พระรัตนตรัย ซีัึ่งเมื่อเช้าที่ผ่านมาคิดว่าพี่น้องพุทธศาสนิกชนจำนวนมากคงเดินทางไปทำบุญที่วัดด้วยจิตเบิกบานและสดชื่นแจ่มใสโดยทั่วหน้ากันแล้วนะครับ

วันนี้ในบล็อกของผมยังคงมีความเคลื่อนไหวเฉกเช่ืนทุกวันโดยจะนำเรื่องราวของตำรวจที่คิดว่าพี่น้องส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เคยได้ยินฟังที่ไหนมาก่อนมาเล่ามาบอกกันตามปกติ สำหรับเรื่องที่จะนำมาเล่านั้้นจะนำมาเฉพาะหัวข้อสั้นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนรายละเอียดหากพี่น้องการต้องทราบเพิ่มเติมกรุณาคลิก Link ที่ผมทำไว้ดูก็แล้วกัน แล้วก็ทุกอย่างผมนำมาจากราชกิจจานุเบกษาเพื่อจะได้มีที่มาที่ไปและมีหลักฐานใช้อ้างอิงได้ เอาละ เรามาเริ่มกันเลยนะครับพี่น้อง

* เครื่องแบบตำรวจไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ เป็นอย่างไร http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/A/35.PDF

* สถานีตำรวจนครบาลเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ มีจำนวน ๔๒ สถานี http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/1756.PDF

* สถานีตำรวจภูธรแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ โดยครั้งแรกที่ตั้งมีชื่อว่าสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/3882_1.PDF

* ในวันเดียวกันกับการตั้งสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอแม่สายมีัการจัดตั้งสถานีตำรวจภูธรขึ้นอีก ๗ แห่ง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/4006.PDF

* พลตำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับเงินเดือน ๔ บาท http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/1834.PDF

* สถานีตำรวจภูธรบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๒ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/1627.PDF

* สน.ยานนาวา เดิมชื่อ "สน.บ้านทะวาย" และ สภ.สวนใหญ่ จ.นนทบุรี เดิมชื่อ "สภ.บางตะนาวศรี" http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/2097.PDF

* สภ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เดิมชื่อ "สภ.บางเหี้ย" http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/D/1574.PDF

* เมืองไทยเราเคยมีสถานีตำรวจที่้ชื่อว่า "สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอสีพันดร จังหวัดนครจำปาศักดิ์" http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/D/4925.PDF

* สภ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๖ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2496/D/013/560.PDF

* สภ.สามโก้ จ.อ่างทอง ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/005/273_1.PDF

* สภ.ประตูน้ำพระอุดม จ.นนทบุรี,สภ.หนองตองห้อง จ.ขอนแก่น,สภ.เชียงคืน จ.มหาสารคาม,สภ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์,สภ.สว่างอาย์ จ.อุทัยธานี ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/026/1079.PDF

* สภ.กุสุัมาลย์ จ.สกลนคร ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/035/1315.PDF

* สภ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/049/1695.PDF

* สภ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุีรี ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/060/2022.PDF

* สภ.เชียงกลาง จ.น่าน,สภ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี,สภ.หนองรี จ.กาญจนบุรี,สภ.โคกขาม จ.สมุทรสาคร,สภ.หัวทุ่ง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กันยานยน ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/063/2163.PDF

* สภ.ควนลัง จ.สงขลา,สภ.นาหม่อม จ.สงขลา,สภ.ทุ่งลุง จ.สงขลา,สภ.เกาะใหญ่ จ.สงขลา
ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/066/2314.PDF

* สภ.ทุ่งคลี จ.สุพรรณบุรี
ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/071/2397.PDF

*
สภ.บ้านเขว้า จ.ขอนแก่น ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/071/2398.PDF

*
สภ.ห้วยโป่ง จ.ระยอง ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤภาคม ๒๔๙๘ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/D/045/1344_1.PDF

ครับ นั่นคือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของตำรวจไทยที่มีหลักฐานทางราชการบันทึกไว้ที่นำมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ซึ่งยังมีอยู่อีักมากผมจะค่อยๆ ทยอยนำมาเล่าตอนหลัง หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่ือพี่น้องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานี้อยู่บ้างตามสมควร

รัำกตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สว้ัสดีครับผม

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตำรวจทำงานเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือ (๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา รายงานตัวครับผม

วันนี้วันอาทิตย์ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ หลัง ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปี วันหยุดวันที่ ๒ ใน ๔ วันสำหรับพี่น้องหลายๆ คน พรุ่งนี้และวันมะรืนนี้จะถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาแล้ว ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านเข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ฟังธรรมในวันสำคัญยิ่งนี้โดยพร้อมเพียงกันอีกครั้งหนึ่งนะครับ

เหมือนเดิมครับวันนี้ผมจะขอนำเรื่องราวของตำรวจมาเล่าให้ฟังกันเช่นเคย เรื่องที่จะนำเสนอนั้นก็ตามจั่วหัว "ตำรวจทำงานเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือ" ที่หลายๆ คนหลายๆ ท่านค้างคาใจ รวมถึงเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น อย่างเช่นคำพูดที่ผมเคยได้ยินมาบ่อยครั้ง "ตำรวจนี่สบายเนาะ ทำงานวันแล้วก็พักไปสอง เดือนหนึ่งมี ๓๐ วันเท่ากับทำงานแค่ ๑๐ วันส่วนอีก ๒๐ วันหยุด แหม สบายจริงๆ แบบนี้ไม่เอาเปรียบข้าราชการอื่นไปหน่อยหรือ" ครับ เท่าที่ได้ยินได้ฟังมาเป็นแบบนั้นจริงๆ จะโทษใครก็ไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้สัมผัสหรือรู้จักการทำงานของพวกเรามากนัก แต่จะปล่อยให้เข้าใจไปแบบนั้นโดยไม่มึการชี้แจงข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเลยหรือ น่าคิดเหมือนกัน แล้วสิ่งที่ผมจะนำมาพูดมาเล่าให้ฟังกันนี่ก็ไม่ใช่การแก้ตัวอะไรทั้งนั้น เพียงแต่อยากนำเสนอ "ความจริง" ว่าพวกเราทำงานเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือ


ท่านที่รักครับ "ตำรวจทำงานเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือ" ตามที่ผมจั่วหัวเรืองนั้น คำว่า "ตำรวจ" นี้ผมขอพูดเฉพาะตำรวจที่ทำงาน"โรงพัก" หรือ "สถานีตำรวจ" เท่านั้นเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะพูดจะเล่าโดยตรง และก่อนเล่าแจ้งแถลงไขก็ขอท้าวความก่อนนะครับว่างานที่ "โรงพัก" ของตำรวจเราเนี่ยะประกอบไปด้วยงานธุรการ,งานสืบสวน,งานสอบสวน,งานป้องกันปราบปรามและงานจราจร (ไม่รวมถึงานกิจการพิเศษอย่างเช่นโรงพักแถวๆ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้บางโรงพักนะครับซึ่งเขาจะมีงานเหล่านี้ตามสภาพของพื้นที่และเหตุการณ์หรือคำสั่งเฉพาะของผู้บังคับบัญชา) งานที่ผมพูดถึงนั้นถ้าไม่นับงานธุรการซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำงานคล้ายๆ กับข้าราชการทั่วไปคือทำงานตามวันและเวลาราชการตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.แล้วงานอื่นๆ จะไม่เป็นแบบนั้น พวกเราทำงานตามตารางเวรที่กำหนดไว้หมุนเวียนกันไปตลอด ๒๔ ชั่วโมง และเรื่องที่จะนำมาเล่าวันนี้ขอเป็นเรื่องงานป้องกันปราบปรามซึ่งเน้นเฉพาะ "งานสายตรวจ" เป็นหลักก่อนงานอื่นๆ ขอยกยอดไปเล่าในโอกาสต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวกับงานสายตรวจนี้ผมนำมาจากคู่มือการปฏิบัติในการจัดและควบคุมสายตรวจ (ฉบับปรับปรุงปี ๒๕๔๓) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดให้สถานีตำรวจทุกแห่งถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน โดยการจัดสายตรวจนี้จะต้องมีการจัดอย่างน้อยดังนี้
๑. สายตรวจรถยนต์
๒. สายตรวจรถจักรยานยนต์
บางโรงพักอาจจะมีการจัดสายตรวจประเภทอื่นอีกด้วยตามสภาพพื้นที่ของโรงพักนั้นๆ แต่ที่แน่ๆ ก็คือสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์นี้ต้องมี ไม่มีไม่ได้ แล้วการจัดสายตรวจทั้งสองประเภทนั้นเป็นอย่างไร อาจจะไม่เหมือนกันทุกโรงพักครับตอบได้แบบนี้ แต่ส่วนใหญ่จะจัดสายตรวจรถยนต์แลรถจักรยานยนต์ไว้ ๓ ชุด แต่ละชุดอาจจัดเป็นหลายเขตตรวจตามสภาพพื้นที่น้อยใหญ่เพื่อให้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ตามคู่มือการปฏิบัติในการจัดและควบคุมสายตรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นในส่วนของสายตรวจรถยนต์กำหนดให้จัดสับเปลี่ยนกันผลัดละ ๒๔ ชั่วโมงคือวันละ ๑ ชุด ส่วนสายตรวจรถจักรยานยนต์ในแต่ละวันให้จัดเป็น ๓ ผลัดๆ ละ ๘ ชั่วโมงดังนี้
* ผลัดแรกตั้งแต่เวลา ๐๐.๐๐-๐๘.๐๐ น.
* ผลัดที่สองตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.
* ผลัดที่สามตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐-๒๔.๐๐ น.
ซึ่งสถานีตำรวจภูธรพานที่ผมรับราชการอยู่ในเวลานี้ก็ถือปฏิบัติแบบนี้โดยจัดสายตรวจรถยนต์จำนวน ๓ ชุด ส่วนรถจักรยานยนต์นั้นจัดไว้ ๔ ชุด

แล้วการทำงานของสายตรวจเราเขาทำกันแบบไหนนั้นผมจะเล่าให้ฟังต่อ เริ่มต้นที่ตั้งแต่ตอนเช้าของแต่ละวันเลยครับ ก่อนเวลา ๐๘.๐๐ น.เจ้าหน้าที่สายตรวจทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ผลัดที่จะปฏิบัติหน้าที่ต้องมาพร้อมกันบริเวณหน้าสถานีตำรวจจากนั้นเมื่อถึงเวลา ๐๘.๐๐ น.ก็จะเคารพธงชาติ,กล่าวคำปฏิญาณตนและอุดมคติตำรวจ



เสร็จแล้ว สวป.หรือนายตำรวจเวรหัวหน้าสายตรวจจะชี้แจงภารกิจและมอบหมายหน้าที่ปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่แล้วพวกเราก็จะออกปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ การปฏิบัติหน้าที่นั้นก็จะเป็นในเรื่องออกตรวจตามแผนการตรวจโดยลงลายมือชื่อในสมุดประจำที่ต่างๆ ที่กำหนด,การประชาสัมพันธ์เยี่ยมเยียนประชาชนเพื่อให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อทราบข้อมูล ข่าวสาร ปัญหาและความต้องการของประชาชน , สังเกต ตรวจตราบุคคลและยานพาหนะที่น่าสงสัย รวมทั้งสถานที่สำคัญหรือสถานที่ล่อแหลมต่อการเกิดเเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน, สืบเสาะหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุคคลและข้อมูลท้องถิ่นในบริเวณที่รับผิดชอบที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ,การตั้งจุดตรวจตามสถานที่สำคัญ เป็นต้น

ต่อมาเมื่อถึงเวลา ๑๖.๐๐ น.สายตรวจรถจักรยานยนต์ผลัดนี้ก็หมดหน้าที่ผลัดใหม่ที่จะเข้าเวรตั้งแต่ช่วงนี้จนถึง ๒๔.๐๐ น.จะมาสับเปลี่ยน ส่วนสายตรวจรถยนต์ยังคงทำงานต่อไปจนกว่าจะถึงวันรุ่งขึ้น แล้วก็เหมือนเดิมครับก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ สวป.หรือหัวหน้าสายตรวจจะเรียกประชุมแถวมอบหมายและชี้แจงภารกิจก่อน สำหรับการเรียกประชุมแถวนั้นจะเป็นที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นที่โรงพักเสมอไป ในส่วนของ สภ.พานมักจะใช้การประชุมแถวผลัดนี้ในย่านชุมชนที่มีคนพลุกพล่านและพี่น้องประชาชนเห็นพวกเราได้อย่างชัดเจน เช่น บริเวณตลาดหรือแหล่งชุมชนเพราะเป็นจิตวิทยาในเรื่องการสร้างความอุ่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่พี่น้องนั่นเอง

หลังจากประชุมและมอบหมายภารกิจเสร็จแล้วพวกเราก็จะออกปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น.ซึ่งสายตรวจผลัดนี้งานค่อนข้างหนักหน่อยเพราะเป็นช่วงที่พี่น้องพักผ่อนหลับนอน แล้วก็มีช่วงความบันเทิงเริงใจอีกด้วยที่อาจจะมีการกระทำผิดเกิดขึ้นมากกว่าเวลากลางวัน

เสร็จภารกิจผลัดนี้แล้วผลัดต่อไปคือผู้ที่เข้าเวรเวลา ๐๐.๐๐-๐๘.๐๐ น.ก็จะมาเปลี่ยนซึ่งการปฏิบัติก็จะเหมือนๆ กับ ๒ ผลัดที่บอกข้างต้น นั่นก็คือการประชุมชี้แจงภารกิจของ สวป.หรือหัวหน้าสายตรวจก่อน



เสร็จแล้วก็ออกปฏิบัติหน้าที่จนถึงเวลา ๐๘.๐๐ น.



ต่อไปผมจะนำรายละเอียดในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สายตรวจเราโดยขอเน้นเฉพาะในส่วนของ สภ.พานเป็นหลัก (สภ.อื่นๆ ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงหรือเหมือนกัน) ว่าในแต่ละเดือน (ขอคิดเฉลี่ยว่าเดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน) พวกเราปฏิบัติงานกันจำนวนกี่วัน กี่ผลัด รวมแล้วเป็นเท่าไร ติดตามต่อได้เลยครับท่าน

* สายตรวจรถยนต์ซึ่งมีจำนวน ๓ ชุด แต่ละชุดปฏิบัติหน้าที่ผลัดละ ๒๔ ชั่วโมงหรือ ๑ วัน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะมีเวลาพัก ๒ วัน เท่ากับใน ๑ เดือนสายตรวจรถยนต์ปฏิบัติหน้าที่ ๑๐ วัน

* สายตรวจรถจักรยานยนต์ซึ่งมีอยู่ ๔ ชุดเมือคิดคำนวณแล้วแต่ละชุดจะมีการปฏิบัติดังนี้

๑. เข้าเวรผลัด ๐๐.๐๐-๐๘.๐๐ น.แล้วจะมีเวลาพัก ๑๖ ชั่วโมง
๒. เมื่อพักครบแล้วจะมาเข้าเวรผลัด ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.แล้วพักอีก ๑๖ ชั่วโมง
๓. พักครบ ๑๖ ชั่วโมงแล้วจะมาเข้าเวรผลัด ๑๖.๐๐-๒๔.๐๐ น.แล้วพัก ๒๔ ชั่วโมงหรือ ๑ วันเต็ม
๔. เสร็จแล้วก็จะกลับมาเข้าเวรลักษณะเดียวกันกับข้อ ๑.-๓. เช่นนี้อีก

เมื่อคำนวณจากเดือนหนึ่งซึ่งคิดเฉพาะ ๓๐ วันแล้วจะเห็นว่าสายตรวจรถจักรยานยนต์ต้องปฏิบัติหน้าที่เดือนละ ๒๓ ผลัดๆ ละ ๘ ชั่วโมงเท่ากับว่าใน ๑ เดือนต้องทำงาน ๑๘๔ ชั่วโมงโดยเฉลี่ย

ในส่วนการปฏิบัติของสายตรวจรถยนต์ซึ่งผมบอกกล่าวข้างต้นที่ว่าใน ๑ เดือนนั้นพวกเราทำงานกัน ๑๐ วันจริงๆ แต่คำว่า วัน หรือ ๑ วัน นี้หลายคนมักละเลยที่จะพูดถึงว่า ๑ วันมีกี่ชั่วโมงโดยมองว่า ๑ วันของเราก็คือ ๑ วันในการทำงานของข้าราชการประเภทอื่น การคำนวณวันเหมือนข้าราชการอื่นนั้นไม่อาจนำมาใช้กับการทำงานของตำรวจ(ที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ธุรการ)ได้ เพราะพวกเราทำงานเป็นผลัดตามตารางเวรที่ผู้บังคับบัญชากำหนดหรือสั่งการไม่ใช่ทำงานเฉพาะวันเวลาราชการ ซึ่งจะเห็นว่าบางช่วงที่คนอื่นเขาทำงานแต่พวกเราได้หยุด หรือในกรณีกลับกันช่วงที่คนอื่นเขาหยุดแต่พวกเราต้องทำงาน เมื่อ ๑ วันมี ๒๔ ชั่วโมงและสายตรวจรถยนต์เราทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้น ใน ๑ เดือนพวกเราที่ทำงาน ๑๐ วันก็เท่ากับ ๒๔๐ ชั่วโมงมากกว่าสายตรวจรถจักรยานยนต์เสียอีก

ระยะเวลาการทำงานในแต่ละเดือนที่พูดถึงข้างต้นเป็นเพียงการทำงานตามวงรอบปกติเท่านั้นไม่รวมถึงการทำงานช่วงภารกิจพิเศษ เช่น ช่วงเทศกาลไม่ว่าจะเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่,เทศกาลสงกรานต์ หรือเวลาที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการอย่างอื่นซึ่งมีค่อนข้างบ่อยครั้งเข้าไปด้วย หากรวมช่วงพิเศษเหล่านี้แล้วเวลาในการทำงานของพวกเราจะเพิ่มขึ้นอีกพอสมควรจนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัวเสียด้วยซ้ำ

กลับไปพูดถึงการทำงานของข้าราชการอื่นที่ทำงานเฉพาะวันและเวลาราชการโดยคิดฐานเฉลี่ยว่า ๑ เดือนมี ๓๐ วันนั้นจะพบว่าใน ๑ เดือนทำงาน ๒๒ วัน (นี่ยังไม่นับเดือนที่มีวันหยุดราชการมากเป็นกรณีพิเศษอย่างเช่นช่วงเข้าพรรษาปีนี้รวมไปด้วย) แล้วเวลาทำงานก็ตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.ซึ่งเท่ากับ ๘ ชั่วโมงต่อวัน เมื่อคำนวณจำนวนชั่วโมงในการทำงานแล้วใน ๑ เดือนจะทำงาน ๑๗๖ ชั่วโมงซึ่งน้อยกว่าการทำงานของสายตรวจรถยนต์ ๖๔ ชั่วโมงและน้อยกว่าสายตรวจรถจักรยานยนต์ ๘ ชั่วโมงโดยเฉลี่ย

กล่าวโดยสรุปการทำงานของตำรวจสายตรวจนั้นจะมากกว่าข้าราชการอื่นอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าพวกเราจะคิดว่าทำงานหนักกว่าคนอื่นนะครับเพราะระบบการทำงานมันไม่เหมือนกัน ซึ่งหากเราเป็นท่านเราก็ต้องทำเหมือนท่าน หรือหากท่านมาเป็นเราท่านก็ต้องทำเหมือนเรา

ครับ เรื่องที่ผมนำมาบอกมากล่าวให้ฟังในวันหยุดนี้ก็คือสิ่งที่อยากจะฝากแง่คิดไปยังหลายๆ ท่านว่าตำรวจ(สายตรวจ) เราทำงานวันเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือ หาใช่มีเจตนาจะเปรียบเทียบว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบหรืองานใครหนักกว่ากันแต่อย่างใดไม่ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นขอให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละท่านก็แล้วกัน

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม