วันนี้วันพุธขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปี ซึ่งขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ผมอยู่ที่หน่วยบริการประชาชนหรือตู้ยามตำบลแม่เย็นเพื่อจะตั้่งจุดตรวจกับน้องๆ ตามปกติแต่ปรากฏว่าฝนตกลงมามากเลยครับไม่สามารถตั้งจุดตรวจได้ก็เลยต้องเฝ้าคอยเหตุและรอบริการพี่น้องประชาชนอยู่ภายในตู้
แต่ก็อย่างว่าแหละไม่อยากปล่อยเวลาว่างให้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงขออนุญาตนำเรื่องราวของตำรวจมาเล่าให้พี่น้องฟังอีกซักเรื่องหนึ่ง โดยเรื่องที่จะเล่าให้ฟังเช้าวันนี้ขอนำ "ความหมายของคำว่า "ตำรวจ" และ "POLICE" มาฝากกัน เรื่องราวเป็นอย่างไรตามมาเลยครับ
ความหมายของคำว่า " ตำรวจ " และ POLICE
“ตำรวจ” ตามที่ระบุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ คือ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ตำรวจ ก็คือ ผู้มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ตามที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ คำว่า “พิทักษ์” แปลว่าดูแลคุ้มครองพลเมืองของประเทศ ดังนั้น ตำรวจจึงเป็นผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงในการดูแลคุ้มครองให้เกิดความสงบสุขแก่พลเมืองของประเทศ
ประเสริฐ เมฆมณี ได้ให้ความหมายของคำว่า “ตำรวจ” ว่าคำนี้ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “POLICE” มีพื้นฐานมาจากคำว่า “WATCH MAN” โดยหมายถึงผู้ตรวจตรา ซึ่งถือกำเนิดมาจาก “การจัดระบบตรวจตราและคุ้มครอง” (WATCH AND WARD SYSTEM) ของตำรวจอังกฤษ และยังมีประวัติความเป็นมาคล้ายคลึงกับคำว่า “RATTLE WATCH” หรือหน่วยตรวจตราคุ้มภัยแก่ประชาชนของตำรวจสหรัฐอเมริกาแต่เดิมด้วย
นอกจากนี้แล้วยังได้มีการวิเคราะห์ความหมายของตำรวจแยกเป็นรายตัวสระ และอักษรคำว่า POLICE นี้ พระเจ้าชาร์ลที่ ๕ แห่งประเทศฝรั่งเศสได้ทรงวิเคราะห์ศัพท์แยกเป็นรายอักษรดังนี้
P มาจาก Politeness หมายถึง ความสุภาพเรียบร้อย
O มาจาก Obedience หมายถึง เชื่อฟังคำสั่ง
L มาจาก Legal Knowledge หมายถึง รู้กฎหมาย
I มาจาก Investigation หมายถึง การสืบสวน สอบสวน
C มาจาก Cooperation หมายถึง ความร่วมมือ สามัคคี ในหน้าที่
E มาจาก Energy หมายถึง ความเข้มแข็ง ต่อการงานในหน้าที่
นอกจากนั้น ได้พิจารณาวิเคราะห์ความหมายของคำว่า “ตรวจ” ซึ่งต่อมาได้แปลงเป็น “ตำรวจ” ได้ดังนี้
ต หมายถึง ตรวจตรา จับกุม ผู้กระทำผิดตามหน้าที่
ำ หมายถึง อำนวยความสะดวกให้ประชาชน
ร หมายถึง ระงับเหตุ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ว หมายถึง วาจาดี มีกริยาสุภาพ
จ หมายถึง จรรยาดี มีศีลธรรม
หน้าที่และความรับผิดชอบของตำรวจ
ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๑ ลักษณะ ๑ บทที่ ๑ ได้กำหนดหน้าที่ทั่วไปของกรมตำรวจไว้ดังนี้
๑. รักษาความสงบเรียบร้อยทั้งภายใน และภายนอกเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน
๒. รักษากฎหมาย ที่เกี่ยวแก่การกระทำผิดในทางอาญา
๓. บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน
๔. ดูแลรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.๒๔๗๘ กำหนดถึงอำนาจหน้าที่ของตำรวจไว้พอสรุปได้ดังนี้
๑. ตำรวจ เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบของประชาชน
๒. ตำรวจ เป็นพนักงานสอบสวน ย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาภายในเขตอำนาจของตนตามที่กำหนดไว้ ในประกาศกระทรวงมหาดไทย
๓. อำนาจการจับกุมผู้กระทำผิดในคดีอาญา อาจเป็นทั้งในกรณีที่มีหมายค้นและไม่มีหมายจับรวมถึงการค้นตัวในที่สาธารณสถาน
๔. อำนาจควบคุมตัวผู้กระทำผิดที่ถูกจับไว้ได้ตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
๕. อำนาจตรวจค้นเคหสถาน ที่อยู่อาศัย และสำนักงานของบุคคลอันเป็นที่รโหฐานตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ
สวัสดีครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น