วันนี้วันศุกร์ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ วันทำงานวันสุดท้ายในรอบสัปดาห์สำหรับหลายๆ ท่านที่บางคนพูดว่าเป็นวันเสาร์น้อย อีกไม่กี่เพลาก็จะเลิกงานกันแล้วส่วนตำรวจเราทำงานทุกวันและตลอด ๒๔ ชั่วโมงเช่นเคย มีอะไรให้พวกเรารับใช้เชิญได้เลยนะครับ
ช่วงพักเที่ยงวันนี้ผมขอนำเรื่องราวที่ของตำรวจเรามาฝากกันเหมือนเดิมครับโดยวันนี้ขอนำเสนอเรื่องตราแผ่นดินซึ่งเรื่องราวมีรายละเอียดดังนี้
ตราแผ่นดินที่หน้าหมวกของตำรวจเริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งก่อนหน้านั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ มีตราหน้าหมวกประกอบเครื่องแบบของตำรวจในรูปแบบต่างๆ อาทิการใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน นุ่งกางเกงและผ้าม่วงโดยสวมหมวกยอด (Helmet) ต่อมาใช้ชุดสีกากีและสวมหมวกสีดำมีลักษณะคล้ายหมวกแก๊ปแต่ไม่มีกระบังแดด มีจุกสีแดง สำหรับตราหน้าหมวกชั้นประทวนนั้นทำด้วยโลหะสีเงินเป็นรูปกงจักรวางอยู่บนกลีบบัวหงาย ภายในเป็นรูปช้างสามเศียรอยู่ตรงกลางอาร์มและมีอักษร “กรมกองตระเวน” อยู่ที่ขอบกงจักร ส่วนชั้นสัญญาบัตรจะเพิ่มพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ด้านบน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนแปลงตราหน้าหมวกใหม่เพื่อความเหมาะสมเรียกกันว่า “ปทุมอุณาโลม” ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองมาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แต่ตราหน้าหมวกนี้ใช้ได้ไม่นานก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้ โดยมีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็น “ตราอาร์ม” แบบของอังกฤษดังที่ปรากฏอยู่ที่หน้าหมวกตำรวจในปัจจุบันซึ่งออกแบบโดยหม่อมเจ้าประวิตร ชุมสาย กำหนดให้ตรงกลางเป็นโล่ ภายในโล่แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนบนเป็นรูปช้างเอราวัณสามเศียร อันหมายถึง ทิพยสมบัติ แต่บางท่านให้คำอธิบายว่าหมายถึง สยามประเทศ ๓ ส่วน คือ เศียรกลาง หมายถึงสยามส่วนกลางคือภาคกลาง เศียรซ้ายหมายถึงส่วนเหนือ เศียรขวาหมายถึงส่วนใต้ ส่วนล่างซีกซ้ายเป็นรูปช้างเผือกหมายถึง บรรดามลาวประเทศ ส่วนล่างซีกขวาเป็นรูปกริชหมายถึงหัวเมืองมลายู (มาเลเซีย) ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาในรัชสมัยนั้น แต่บางท่านก็ตีความรวมทั้งช้างเผือกและกริชว่าหมายถึงราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ เหนือโล่ขึ้นไปเป็นรูปจักรและตรีอันหมายถึงพระบรมราชวงศ์จักรีอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎโดยมีฉัตร ๗ ชั้นอยู่ ๒ ข้าง ซึ่งพระมหาพิชัยมงกุฎและฉัตรนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทางด้านซ้ายของโล่เป็นรูปคชสีห์แบกพระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ อันหมายถึงตราของทางฝ่ายทหารซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการผดุงรักษาประเทศ ทางด้านขวาของโล่เป็นรูปราชสีห์แบกพระแสงดาบอาญาสิทธิ์อันหมายถึงตราของฝ่ายพลเรือนคือมหาดไทยซึ่งเป็น ๑ ใน ๒ ของหน่วยงานที่เป็นหลักในการรักษาประเทศนั่นเอง หม่อมเจ้าประวิตร ชุมสาย จึงได้นำเครื่องหมายของทั้งสองหน่วยงานมารวมไว้ในตราแผ่นดินนี้ด้วย
รอบโล่เป็นพระสังวาลย์ของพระมหากษัตริย์ห้อยไว้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องพระราชกกุธภัณฑ์ประดับอยู่ในตราแผ่นดินคือฉลองพระบาทอยู่ใต้ฉัตรทั้งสองข้างและพระแส้จามรีอยู่คู่กับพระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ทางด้านซ้าย ส่วนพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ทางด้านขวามีพัชนีฝักมะขามอยู่คู่กัน ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยม ด้านล่างของแท่นมีแถบผ้าพริ้วอยู่จารึกคาถาบาลีว่า “ สพเพสัง สงฆ ภูตานํ สามคคี วฑฒิ สาธิกา ” พร้อมทั้งมีพระฉลองภูษาเต็มยศของพระมหากษัตริย์คลุมโอบจากเบื้องหลัง ส่วนด้านหน้าสุดจะมีคำว่า “ พิทักษ์สันติราษฎร์ ” อยู่บนแถบผ้าพริ้วด้วย
จะเห็นได้ว่าความสมบูรณ์ของตราแผ่นดินนี้ได้รวมภาพเกี่ยวกับอิสราธิปไตยของชาติไว้อย่างครบครันคือหมายถึงความเป็นชาติเอกราชและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็น “ตราแผ่นดิน”
ตราแผ่นดินนี้ได้ใช้มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เท่านั้นก็มีพระราชประสงค์ให้ใช้ตรา “ พระครุฑพ่า ” เป็นตราแผ่นดินมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันหน่วยงานที่ใช้ตราแผ่นดินหรือตราอาร์มเป็นตราประจำหน่วยงานมีเพียงไม่กี่หน่วยงานเพราะถือเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพียงตัดคำว่า “ พิทักษ์สันติราษฎร์ ” ออกเว้นแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้นที่ยังคงใช้ตราแผ่นดินหรือตราอาร์มเป็นตราหน้าหมวกของข้าราชการตำรวจทุกนาย
ข้อเขียนวันนี้หวังว่าคงจะเป็นความรู้สำหรับหลายๆ ท่านอยู่ตามสมควรแล้วโอกาสหน้าผมจะขอนำเสนอเรื่องราวสาระน่ารู้ที่เกี่ยวกับตำรวจมาเล่าสู่กันฟังใหม่ครับรักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ
สวัสดีครับผม
ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ครับ
ตอบลบ