วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชุมเจ้าหน้าที่สายตรวจมอบหมายภารกิจก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ (๖ สิงหาคม ๒๕๕๓)

วันนี้เวลาประมาณ ๑๕.๕๐ น.ผมได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่สายตรวจรถจักรยานยนต์ผลัดที่จะปฏิบัติหน้าที่ระหว่างเวลา ๑๖.๐๐-๒๔.๐๐ น.เพื่อชี้แจงและมอบหมายภารกิจก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการสายตรวจ

สำหรับภารกิจที่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สายตรวจผลัดนี้ถือปฏิบัติมีดังนี้

๑. เน้นการปฏิบัติให้มากเป็นพิเศษบริเวณย่านชุมชนที่มีคนพลุกพล่าน
๒. ให้ดำเนินการตามมาตรการทิ้งทุ่นโดยการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่สายตรวจจากการทำให้คนน้อยเป็นคนมากตามวิธีการที่แจ้งในการประชุมวันนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องประชาชนเกิดความอุ่นใจและเป็นการลดช่องโอกาสของคนร้ายที่จะกระทำผิด
๓. เพิ่มความสังเกตและตรวจค้นบุคคล/ยานพาหนะซึ่งมีลักษณะผิดปกติ เช่น ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จอดนานผิดสังเกต หรือพกพาอาวุธ หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
๔. ให้เพิ่มความเข้มในการตรวจจุดที่กำหนดไว้ให้มากยิ่งขึ้น
๕. ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ให้ทำการตั้งจุดตรวจอย่างน้อยวันละ ๑ ครั้งโดย การตั้งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด
๖. การปฏิบัติต่อพี่น้องประชาชนให้เป็นไปด้วยความสุภาพ อ่อนน้อมและเป็นมิตรในลักษณะขอความร่วมมือไปเบื้องต้นก่อนเพื่อเป็นการสร้างมวลชนไปในตัว แต่หากการกระทำผิดเป็นความผิดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้งและพี่น้องประชาชนเดือดร้อนให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด
๗. รายงานการปฏิบัติเข้าศูนย์วิทยุ สภ.พานทุกครั้งหรืออย่างน้อยทุกๆ ๓๐ นาที
๘. หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจผลัดนี้ให้บันทึกข้อมูลและผลการปฏิบัติตามแบบฟอร์มเก็บไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการสายตรวจเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หรือปรับแผนการตรวจให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

เจ้าหน้าที่รับทราบจึงปล่อยแถวออกปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

อนึ่ง การประชุมและชี้แจงเจ้าหน้าที่สายตรวจเพื่อมอบหมายภารกิจก่อนออกปฏิบัติหน้าที่นั้นตามโครงการพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อประชาชนในด้าน "การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน" กำหนดไว้สรุปได้ดังนี้

๑.ให้มีการอบรมชี้แจงเพื่อสร้างเสริมทักษะเจ้าหน้าที่สายตรวจและตรวจสอบความ พร้อมเกี่ยวกับการแต่งกาย,อาวุธ,เครื่องมือเครื่องใช้และยานพาหนะก่อนออกปฏิบัติหน้าที่
๒. ให้รวบรวมข้อมูลอาชญากรรมจากสายตรวจไว้อย่างสม่ำเสมอ
๓. ให้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สถานภาพอาชญากรรมและสถานการณ์เพื่อประกอบการพิจารณาวางแผนในการจัดสายตรวจอย่างเป็นระบบ
๔. สายตรวจมีการเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างสม่ำเสมอ
๕. มีการตรวจตามวงรอบที่กำหนด
๖. ตั้งจุดตรวจอย่างน้อยวันละ ๑ ครั้งโดยให้ถือตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๖๒๕/๓๗๗๙ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๐
ต่อมาเวลาประมาณ ๑๖.๐๕ น. ได้ตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สิบเวรพบ ด.ต.เวที เรือนปาง อยู่ปฏิบัติหน้าที่รายงานเหตุการณ์ทั่วไปปกติ ในส่วนของเอกสารที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่จัดทำไว้สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน จากนั้นร่วมกันตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหาพบว่ามีผู้ต้องหาจำนวน ๒ คนเพศชายถูกจับกุมในข้อกล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ สภาพห้องควบคุมมั่นคงแข็งแรง ไม่มีสิ่งของผิดกฎหมายหรือระเบียบอยู่ภายใน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดโดยยึดระเบียบที่กำหนดไว้เป็นสำคัญ หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นขณะปฏิบัติหน้าที่ให้รีบรายงานให้ทราบทันที

เจ้าหน้าที่รับทราบ

อนึ่ง จากการตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สิบเวรครั้งนี้จะเห็นว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหานั้นมีห้องชี้ตัวผู้ต้องหาด้วย ดังนั้นเพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้จึงขอนำระเบียบที่เกี่ยวกับห้องชี้ตัวผู้ต้องหามาแจ้งเพื่อทราบเพิ่มเติมดังนี้ครับ

กรมตำรวจ (หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) มีหนังสือที่ มท ๐๖๐๖.๖/๕๒๗ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๑ เรื่องการปฏิบัติในการชี้ตัวผู้ต้องหา มีสาระสำคัญสรุปในเรื่องนี้ความว่า "สถานที่ที่จะทำการชี้ตัวผู้ต้องหาต้องเป็นห้องที่มีกำบังพอที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกมองเห็นบุคคลที่อยู่ภายในห้องได้จากทางอื่นนอกจากช่องกระจก (มีขนาดพอสมควรที่จะมองเข้าไปภายในห้องได้โดยสะดวก) กระจกที่ใช้เป็นกระจกมองทางเดียว ( one way mirror) โดยติดตั้งให้ผู้ชี้ตัวผู้ต้องหามองผ่านเข้าไปในห้องชี้ตัวผู้ต้องหาได้ แต่บุคคลภายในห้องชี้ตัวผู้ต้องหาไม่สามารถมองเห็นบุคคลที่อยู่ภายนอกห้องชี้ตัวได้ และภายในห้องชี้ตัวผู้ต้องหาต้องมีแสงสว่างเพียงพอที่จะเห็นบุคคลภายในห้องได้อย่างชัดเจน"

วิธีชี้ตัวผู้ต้องหาให้ปฏิบัติดังนี้

๑. เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่กรณีห้ามจัดให้ผู้ที่จะทำการชี้ตัวผู้ต้องหามีโอกาสเห็นตัวหรือภาพถ่ายหรือตำหนิรูปพรรณผู้ต้องหาก่อนทำการชี้ตัว


๒. พยายามจัดให้ผู้ต้องหาแต่งกายลักษณะคล้ายคลึงกับเวลาที่เกิดเหตุยืนปะปนกับบุคคลอื่นเพศเดียวกัน รูปร่าง ขนาด อายุ และแต่งกายคล้ายคลึงกับผู้ต้องหาจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ คนและอยู่รวมกับผู้ต้องหาในที่เดียวกัน


๓. ให้ผู้ต้องหาและบุคคลที่จัดไว้ยืนเข้าแถวอยู่รวมกันหรือเดินผ่านผู้ชี้ตัวทีละคนและให้ผู้ต้องหาเลือกที่ยืนหรือลำดับที่เดินผ่านผู้ชี้ตัวแล้วแต่กรณีตามความประสงค์ของผู้ต้องหาทุกครั้ง และเมื่อผู้ต้องหาพอใจอย่างไรแล้วให้บันทึกรับทราบการชี้ตัวของผู้ต้องหาไว้ด้วย


๔. บันทึกรับทราบการชี้ตัวของผู้ต้องหาให้เป็นไปตามแบบที่แนบท้ายหนังสือนี้


๕. ในการชี้ตัวผู้ต้องหาให้ผู้ทำหน้าที่อำนวยการในการชี้ตัวผู้ต้องหาจัดให้มีบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่ตำรวจและบุคคลที่เชื่อถือของบุคคลโดยทั่วไป เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน หรือบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของบุคคลในพื้นที่ที่มีการชี้ตัวอย่างน้อย คนเป็นพยานในการชี้ตัวผู้ต้องหา


๖. ห้ามผู้ใดกระทำการอันเป็นเชิงแนะนำให้ชี้ตัวผู้ต้องหาคนใด


๗. เมื่อชี้ตัวผู้ต้องหาแล้วให้บันทึกผลการชี้ตัวไว้เป็นหลักฐานโดยแยกทำบันทึกเป็นรายบุคคลของผู้เข้าชี้ตัวแล้วให้ผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการชี้ตัวผู้ชี้ตัวและพยานในการชี้ตัวลงลายมือชื่อรับรองการชี้ตัวไว้ด้วย บันทึกผลการชี้ตัวผู้ต้องหาให้เป็นไปตามแบบที่แนบท้ายหนังสือ


๘. เมื่อชี้ตัวผู้ต้องหาแล้วให้ลงบันทึกรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้สอบสวนปากคำผู้ชี้ตัวไว้ด้วย


๙ ในการชี้ตัวผู้ต้องหาจะจัดให้มีการบันทึกภาพไว้ด้วยก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น