วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผมแค้นข้าวครับ (๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓)

เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริืงที่ผมได้ไปสัมผัสกับเด็กๆ ที่น่ารักมาครับ

เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน

เพื่อนรักเราชักชวน ร่วมช่วยกันมุ่งหมั่นทำ

วิชาต้องหาไว้ เป็นหลักได้ใช้ช่วยนำ

ให้รู้ลู่ทางจำ ค้นคว้าไปให้มากมาย

ช่วยกันอย่างขันแข็ง ด้วยลำแข้งและแรงกาย

ทำไปไม่เสียดาย แม้อาบเหงื่อเมื่อทำงาน

ดั่งนี้มั่งมีแท้ ร่มเย็นแน่หาไหนปาน

โลกเขาคงเล่าขาน ถิ่นไทยนี้ดีงามเอย








คิดว่าหลายๆ ท่านคงจะเคยท่องอาขยานบทนี้เมื่อสมัยตอนเป็นเด็กๆ และยังพอจำกันได้อยู่
แม้ว่ายุคนี้แทบไม่มีการท่องจำในโรงเรียนกันแล้วก็ตาม ครับ เมืองไทยของเราใหญ่อุดมจริงๆ อย่างที่เขาว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สำคัญที่สุดก็คือ “รอยยิ้ม” ที่แขกต่างบ้านต่างเมืองล้วนประทับใจมิรู้ลืม

พูดถึงเมืองไทยแล้วก็นึกถึงภาษาหรือสำเนียงท้องถิ่นขึ้นมาได้ ภาคเหนือ กลาง อิสาน ใต้ ตะวันตก ตะวันออก หรือภาคไหนๆ ล้วนต่างมีสำเนียงท้องถิ่นของตนซึ่งมีความไพเราะเพราะพริ้งทั้งนั้น คำบางคำคนภาคอื่นสามารถฟังและเข้าใจได้ทันทีเพราะพูดเหมือนกันจะแตกต่างไปเฉพาะสำเนียงของภาคนั้นๆ เท่านั้น บางคำก็จะมีใช้เฉพาะภาค แต่ไม่ว่าจะเป็นภาษาถิ่นภาคไหนก็ตามล้วนคือภาษาไทยด้วยกันดังที่นักการเมืองใหญ่ท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่า “ภาษาถิ่นก็คือภาษาไทย” นั่นเอง ถูกต้องแล้วครับ ยังไงๆ ก็ขอให้ช่วยกันอนุรักษ์ภาษาถิ่นซึ่งเป็นภาษาที่คุณพ่อ คุณแม่ ปู่ย่าตายายของเราท่านพูดแต่ดั้งแต่เดิมไว้ด้วยก็แล้วกัน

ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังกันเลยนั่นก็คือ ภาษาถิ่น” แต่จะขอพูดเฉพาะภาคเหนือเท่านั้นเพราะผมเองแม้ว่าจะไม่ใช่คนเหนือโดยกำเนิด (เกิดที่ระยองครับ) แต่หลังจากจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วก็มารับราชการที่ภาคเหนือนี้ตลอดจนเดี๋ยวนี้เป็นเวลาซาว (๒๐) กว่าปีเข้าให้แล้วและคงจะไม่ไปไหนอีกอยู่เป็น “คนเมือง” ที่นี่จนแก่ตายกันไปข้างหนึ่ง ครอบครัวก็เป็นคนทางนี้ (ภรรยาเป็นคนเจียงฮาย ลูกสาว(ที่สวยที่สุดในจักรวาล(ในสายตาของผม) เกิดและโต(เป็นสาว)ที่พะเยา) ทำให้มีความรู้ความเข้าใจและ “อู้” ส่งสำเนียงกับ “เปิ้น” ได้เป็นอย่างดี แถมเขียนและอ่าน “ตั๋วเมือง” (ตัวหนังสือภาคเหนือ) ได้อีกต่างหาก ขอบอก ชีวิตประจำวันแทบจะไม่ได้ใช้ภาษากลางหรือถ้าพูดให้ถูกก็น่าจะใช้คำว่า “ภาษาถิ่นของคนภาคกลาง” เลย ไปไหนมาไหน พูดจากับใครก็ต้อง “อู้กำเมือง” จนชินเป็นนิสัยไปโดยไม่รู้ตัว แล้ว “กำเมือง” นี่ถ้าไม่นับคำที่รู้หรือพูดกันเฉพาะภาคเช่นคำว่า “งืด” ซึ่งก็ประมาณคำว่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์ยากที่จะเข้าใจ หรือคำว่า “หลึก” (ดื้อด้าน สอนไม่จำ) , แก๊น (สะอีก,สำลัก เช่น สำลักควัน,สำลักข้าว อะไรประมาณนี้) , ละอ่อน (เด็ก) , หื้อ (ให้) , หมู่เฮา (พวกเรา) แล้ว คำอื่นๆ ก็จะต่างไปเฉพาะแค่สำเนียงเท่านั้นเอง อีกอย่างหนึ่งเรื่องของสำเนียงนี่ส่วนใหญ่ ต้องใช้คำว่าส่วนใหญ่นะครับเพราะมีเหมือนกันที่ไม่ใช่นั่นก็คือสำเนียงหรือเสียงที่ภาษา(ถิ่นทางภาค )กลางออกเสียง ค กำเมืองจะออกเสียงเป็นตัว ก เช่น คำเมือง ก็จะเป็น กำเมือง เสียง ช จะเป็นเสียง จ เช่น ช้อน ก็เป็น จ๊อน , ช้าง ก็เป็น จ๊าง ตัว ร ก็จะเป็น ฮ เช่น รัก ก็เป็น ฮัก , โรงเรียน ก็เป็น โฮงเฮียน (แต่แปลกอย่างที่โรงแรมไม่ยักเป็นโฮงแฮมกลับเป็นโรงแรมเหมือนคำถิ่นภาคกลาง) เอาเป็นว่าใครได้ยินได้ฟังแล้วจะต้องหลง “กำเมือง” ไม่รู้ลืมไปเลยก็แล้วกั๋น เจื้อก่อ

งานในหน้าที่ของผมซึ่งเป็น สวป.หรือคำเต็มคือ “สารวัตรป้องกันปราบราม” ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการออกพบปะเยี่ยมเยียนให้ความรู้ความเข้าใจในการป้องกันอาชญากรรมแก่พี่น้องประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น การดำเนินรายการทางวิทยุชุมชน, การอบรมให้ความรู้ พี่น้อง รวมไปถึงให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้พี่น้องเหล่านี้รู้เท่าทันเล่เหลี่ยมของคนร้าย ไม่ตกหรือถูกหลอกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ดังที่ท่านๆ ทั้งหลายเห็นในบล็อกของผม

วันหนึ่งช่วงเที่ยงๆ ผมกับทีมงานวิทยากรซึ่งเป็นตำรวจโรงพักเมืองพานนี่เองเดินทางไปให้ความรู้แก่นักเรียนโรงเรียนหนึ่ง โรงเรียนนี้สอนระดับประถมศึกษาตั้งแต่ชั้น ป.๑-ป.๖ นักเรียนก็ไม่มาก รู้สึกว่าทั้ง ๖ ชั้นไม่ถึง ๑๒๐ คนเสียด้วยซ้ำ เฉลี่ยแล้วชั้นละตกอยู่ไม่ถึง ๒๐ คนดี โรงเรียนที่ไปวันนั้นคุณครูท่านจัดเด็กนักเรียนระดับช่วงชั้นที่ ๒ คือตั้งแต่ ป.๔- ป.๖ เข้าฟัง มีราวๆ ๖๐ คนเห็นจะได้โดยจัดเวลาให้ ๑ ชั่วโมงตั้งแต่บ่ายโมงถึงบ่ายสอง แล้วทีนี้โรงเรียนนี้เป็นครั้งแรกที่ผมเข้าไป ดังนั้นก่อนจะบรรยายให้ความรู้ก็ต้องทำความรู้จักคุ้นเคยกันก่อนเป็นธรรมดา เด็กๆ ทั้งหมดน่ารักมากเลยครับ ใสซื่อ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา พูดจาฉะฉาน เรียกว่าไม่มีหรอกครับแบบสมัยก่อน(เอาตอนผมเป็นเด็กก็ได้) ที่เห็นคนแปลกหน้าแล้วจะไม่กล้าพูดกล้าคุยด้วย ผมและคณะกับเด็กๆ พบกันแป๊บเดียวเองแต่ดูเหมือนว่ารู้จักกันมาเกือบเป็นชาติได้ก็ไม่ปาน เก่งจริงๆ เด็กๆ พวกนี้ แล้วการพูดการจาก็ “กำเมือง” เป็นธรรมดาน่ะครับ ส่งสำเนียงอู้จากำเมืองนั่นแหละ ก็แหม หมู่เฮาตึงหมดตึงเสี้ยงก็ “คนเมือง” ตวยกั๋น จะอู้จ๋าภาษาอื่นได้จะใด แต๊ก่อ

พบปะอู้จ๋ากับละอ่อนจนเป่นตี้ฮู้จักสนิทสนมได้ประมาณกึ่งชั่วโมงก็เข้าสู่ช่วงบรรยายพิเศษ ก่อนถึงเวลาคุณครูท่านบอกให้เด็กๆ เข้าห้องเรียนไปก่อน แหมซักกำ (อีกสักครู่หนึ่ง) ผมก็เข้าไปเป็นคนแรก วันนั้นเตรียมเรื่องการใช้รถใช้ถนนหื้อละอ่อนฟัง เตรียมมาอย่างดิบดีด้วยนะครับ พอเข้าห้องหัวหน้าชั้นบอก “นักเรียน เคารพ”..... “สวัสดีครับ.สวัสดีค่ะ” เมื่อ “สวัสดี” กันแล้วก็ถึงตาผมล่ะครับทีนี้
สวัสดีละอ่อนตี้น่าฮักของลุงต๋ำหนวดทุกคน เป็นจะใด สบายดีกั่นก่อ” ผมทักทายเด็กเป็นกำเมือง
.......เงียบ เงียบครับ เงียบกริบเลย ละอ่อนนักเฮียนบ่มีไผอู้ตอบกับผมซักคน เอ้า ก็เกือบๆ กึ่งชั่วโมงก่อนเข้าห้องเรียนยังเฮฮาสนุกสนานกันอยู่เลยนี่
สวัสดีหมู่เฮาทุกคน” ผมพูดอีกพร้อมทำไม้ทำมือตามสไตล์บ้าๆ บอๆ ของผม
......เงียบ เงียบเหมือนเดิม แต่ทีนี้ไม่ใช่แค่นั้นซิ่ครับ นอกจากเงียบเหมือนป่าช้าแล้ว เด็กๆ ยังมองหน้าผมแบบแปลกๆ ยังไงชอบกล เอ๊ะ อะไรเกิดขึ้นหรือนี่
ลุงตำรวจครับ” เด็กคนหนึ่งซึ่งอยู่โต๊ะหลังสุดลุกขึ้นยืนพูดกับผมเป็นภาษา(ถิ่นภาค)กลางชัดถ้อยชัดคำทั้งๆ ที่ก่อนเข้าห้องเรียนก็ยังอู้กับผมเป็น “กำเมือง” อยู่เลยนี่นา
มีหยังลูก” ผมถามเป็นกำเมืองเหมือนเดิม
ลุงตำรวจครับ ที่โรงเรียนผมนี่นะครับ คุณครูบอกว่าเวลาอยู่ในชั้นเรียนห้ามใครพูดคำเมืองครับ จะต้องพูดคำไทยอย่างเดียวเท่านั้น” เด็กคนนั้นพูด
อ้อ.... ถึงบางอ้อซะทีว่าทำไมเด็กๆ พวกนี้ไม่ยอมพูดกับผมเวลาที่ผมอู้กำเมืองกับเขา เข้าใจแล้ว ทีนี้เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องทำตามระเบียบของโรงเรียน ผมก็พูดก็บรรยายเรื่องที่เตรียมมาเป็นคำไทยภาคกลางอย่างเดียว แล้วก็สไตล์ผมนะครับ ขอคุยซะหน่อย ไม่ได้โม้ด้วย เด็กๆ ไม่มีหลับไม่มีง่วงในชั้นก็แล้วกัน (แฮ่ะๆๆ) ผมพูดเรื่องที่เตรียมมาอย่างมีความสุข เด็กๆ ต่างตั้งใจฟังและเฮฮาพร้อมพูดโต้ตอบกับผมตลอดเวลาโดยใช้คำไทยภาคกลางชัดถ้อยชัดคำทุกคน

ระหว่างบรรยายมีอยู่ตอนหนึ่งผมเหลือบไปเห็นเด็กคนหนึ่งซึ่งก็คือคนที่บอกผมว่าห้ามพูดคำเมืองในชั้นเรียนนั่นแหละ แกมีอาการแปลกๆ ประมาณเหมือนจะอาเจียนหรือสำลักอะไรออกมาซักอย่าง น้ำหูน้ำตา เหงื่อเหง่อไหลเต็มไปหมด ตกใจเหมือนกันกลัวว่าจะไม่สบายก็เลยถาม เป็นอะไรหรือลูก

เด็กคนนั้นอึกอักๆ แบบนั้นไปอีกซัก ๗-๘ วินาทีเห็นจะได้ก่อนที่จะพูดออกมาด้วยภาษาไทยภาคกลางชัดถ้อยชัดคำได้ยินกันหมดทั้งห้องเรียนว่า




(แก๊น : ภาษาถิ่นของคนภาคเหนือ หมายถึงสำลัก เช่น สำลักควัน,สำลักข้าว)

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

ขอบคุณครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น