สมัยก่อนนู้น (แสดงว่านานมาแล้ว) วงการตำรวจกำหนดตำแหน่งต่างๆ ของสถานีตำรวจหรือโรงพักอย่างน้อยดังนี้
๑. ผู้บังคับกอง (เป็นหัวหน้าสถานี)
๒. ผู้บังคับหมวด (ระดับยศร้อยตำรวจตรีถึงร้อยตำรวจโท)
๓. ผู้บังคับหมู่ (ระดับยศดาบตำรวจ,จ่าสิบตำรวจ,สิบตำรวจเอก,สิบตำรวจโท,สิบตำรวจตรี)
๔. ลูกแถว (ยศพลตำรวจ)
ตำแหน่งต่างๆ นี้เราใช้กันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๑๘ จึงได้ปรับตำแหน่งต่างๆ ที่โรงพักใหม่เป็น
๑. สารวัตรใหญ่ (เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีปริมาณงานมาก แต่หากระดับรองๆ ลงมาก็จะเป็นตำแหน่งสารวัตร หรือรองสารวัตร และบางแห่งที่เป็นโรงพักเล็กๆ ไม่มีอำนาจสอบสวนก็จะแต่งตั้งตำรวจชั้นประทวนยศดาบตำรวจหรือจ่าสิบตำรวจทำหน้าที่หัวหน้าสถานี)
๒. สารวัตร ซึ่งก็จะมีสารวัตรสืบสวนสอบสวน (สวส.), สารวัตรป้องกันปราบปราม (สวป.) บางแห่งอาจจะมีสารวัตรจราจร (สว.จร.) ด้วย
๓. รองสารวัตร
๔. ผู้บังคับหมู่
๕. ลูกแถว
เราใช้ตำแหน่งใหม่นี้ตลอดเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๓๕ วงการตำรวจมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่โรงพักใหม่อีกครั้งโดยโรงพักใหญ่ๆ ที่มีปริมาณงานมากกำหนดให้หัวหน้าสถานีเป็นผู้กำกับการมียศพันตำรวจเอก ส่วนระดับรองๆ ลงไปที่สำคัญ (ขอพูดเฉพาะชั้นสัญญาบัตรครับ) จะมีดังนี้
๑. รองผู้กำกับการ (ป้องกันและปราบปราม)
๒. รองผู้กำกับการ (สืบสวนสอบสวน)
๓. สารวัตรป้องกันปราบปราม
๔. สารวัตรสืบสวน
๕. พนักงานสอบสวน
ซึ่งจะเห็นว่าตำแหน่งสารวัตรใหญ่นั้นไม่มีแล้ว
สำหรับตำแหน่งที่พูดข้างต้นนี้ไม่เหมือนกันหมดทุกโรงพักนะครับถ้าเป็นโรงพักใหญ่ๆ ที่มีปริมาณงานมากก็จะมีตำแหน่งที่พูดถึงครบ แต่หากเป็นโรงพักรองๆ ลงมาหัวหน้าสถานีอาจจะเป็นตำแหน่งรองผู้กำกับการ,สารวัตร,หรือรองสารวัตร
เอ้า แล้วไฉนตอนนี้จึงได้ยินคำว่า “สารวัตรใหญ่” ที่โรงพักหลายๆ แห่งอีกล่ะ หรือว่ามีการกำหนดตำแหน่งขึ้นมาใหม่ หลายท่านอาจจะฉงน ขอเฉลยครับ
สำหรับเหตุที่มีคำว่า “สารวัตรใหญ่” ขึ้นมาอีกนั้นมาจากกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ยุคพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) มีคำสั่งที่ ๕๓๐/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๐ ให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งรองผู้กำกับการที่ทำหน้าที่หัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมี ๒๕๓ แห่งเป็นสารวัตรใหญ่ทั้งหมด และยังมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๖๕๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม กำหนดหัวหน้าสถานีตำรวจมี ๓ ระดับคือมีผู้กำกับการ (ผกก.) เป็นหัวหน้าสถานี มีสารวัตรใหญ่ (สวญ.) เป็นหัวหน้าสถานี และสารวัตร (สว.) เป็นหัวหน้าสถานี
นี่แหละครับคือที่มาของคำว่า “สารวัตรใหญ่” แต่คำว่า “สารวัตรใหญ่” ตามคำสั่งนี้ไม่ใช่ตำแหน่ง “สารวัตรใหญ่” เหมือนยุคก่อนนะครับ ตำแหน่งจริงๆ คือ “รองผู้กำกับการ” ที่เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจเพราะตำแหน่ง “สารวัตรใหญ่” ไม่มีในระเบียบตำรวจแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา พูดง่ายๆ ก็คือการเป็นเรียกชื่อตำแหน่งเฉพาะตำแหน่งนั่นเอง
อีกเรื่องหนึ่งที่จะเล่าให้ฟังวันนี้ก็คือมีหลายคนสอบถามเพราะสงสัยว่า เอ๊ สมัยก่อนเวลาไปติดต่อราชการที่สถานีตำรวจภูธรจะเห็นคำว่า “สถานีตำรวจภูธรอำเภอ......กิ่งอำเภอ..........ตำบล” ประมาณนี้ แต่ตอนนี้เห็นเพียงแค่คำว่า “สถานีตำรวจ” แล้วตามด้วยชื่ออำเภอหรือชื่อโรงพักนั้นเท่านั้นไม่มีคำว่า “อำเภอ,กิ่งอำเภอ,ตำบล” อีก มาจากไหนกัน เรื่องนี้มีที่มาดังนี้ครับ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีประกาศลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๐ เรื่อง การกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจความรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค ๑ ถึง ๙ มีสาระสำคัญดังนี้
“เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนการให้บริการด้านต่าง ๆ ของสถานีตำรวจในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอแก้ไขเขตอำนาจความรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของสถานีตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจภูธรให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอำนวยความสะดวกในการใช้บริการของประชาชน รวมทั้งเพื่อให้สถานีตำรวจภูธรมีชื่อเรียกเป็นไปในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ จึงสมควรเปลี่ยนชื่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอ สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอ และสถานีตำรวจภูธรตำบลเป็นสถานีตำรวจภูธรแล้วตามด้วยชื่อของอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือตำบล ตามที่ใช้เป็นชื่อสถานีตำรวจอยู่ในปัจจุบัน ยกเว้น สถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยา ให้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาตามชื่อเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา” ซึ่งประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ รายละเอียดเรื่องนี้ท่านสามารถเปิดดูได้ที่นี่ครับ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/E/139/1.PDF
สำหรับการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานีตำรวจครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะสถานีตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค ๑-๙ จำนวน ๑,๓๖๑ สถานี โดยใช้ชื่อเรียกในลักษณะเดียวกันทั้งหมดเหมือนตำรวจนครบาลเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนในการเรียกชื่อสถานีตำรวจ เช่น สถานีตำรวจภูธรอำเภอพาน (สภ.อ.) เปลี่ยนเป็น สถานีตำรวจภูธรพาน สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอภูกามยาว เป็นสถานีตำรวจภูธรภูกามยาว สถานีตำรวจภูธรตำบลแม่อ้อ เป็นสถานีตำรวจภูธรแม่อ้อ เป็นต้น โดยใช้ชื่อย่อว่า “สภ.”
หวังว่าข้อเขียนในวันนี้คงสร้างความกระจ่างให้แก่ท่านพอสมควรนะครับ
รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ
สวัสดีครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น