วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คดีอาญา ๕ กลุ่มคืออะไร (๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓)

ปัจจุบันนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสารและแจ้งข่าวมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งช่องทางหนึ่งที่สำคัญและในความเห็นส่วนตัวของผมเองคิดว่าจำเป็นอย่างขาดเสียไม่ได้ในสังคมยุคดิจิตอลนี้ก็คือการจัดทำเว็บไซต์ของหน่วยงานนั่นเอง ในส่วนของตำรวจนั้นเท่าที่พบก็รู้สึกชื่นใจที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญในส่วนนี้ซึ่งมีการจัดทำในหลายรูปแบบ แล้วแต่ความคิดของผู้เขียนหรือผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนั้นๆ สำหรับท่านที่เคยเปิดเว็บไซต์ของหน่วยงานตำรวจอาจจะพบคำว่า "สถิติคดีอาญา ๕ กลุ่ม" หรือ "คดีอาญา ๕ กลุ่ม" ผ่านตาอยู่บ้าง บางท่านอ่านแล้วก็ผ่านไปเลย แต่บางท่านอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าคำคำนี้คืออะไร หมายความว่าอย่างไร เพราะในเว็บไซต์เหล่านั้นแทบจะไม่มีการอธิบายความหมายไว้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจผมจึงขออธิบายถึงคำคำนี้ให้ท่านที่ยังไม่ทราบได้รับทราบ เผื่อโอกาสต่อไปหากพบเห็นคำคำนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตามจะได้เข้าใจกัน

"คดีอาญา ๕ กลุ่ม" นี้นำมาใช้สมัยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็น "กรมตำรวจ" และสังกัดอยู่กับ "กระทรวงมหาดไทย" โดยในครั้งนั้น (ไม่สามารถค้นหาหลักฐานที่แน่นอนได้ว่าเป็นปีหรือ พ.ศ.ใด) ได้กำหนดให้มีการแบ่งคดีอาญาที่เกิดขึ้นเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รวมไปถึงผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกเป็น ๕ กลุ่มด้วยกัน โดยนำเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยในสังคมและประชาชนเป็นเกณฑ์ สำหรับคดีอาญาที่แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ นั้นมีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มที่ ๑ เป็นคดีประเภทอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้

๑) ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
๒) ปล้นทรัพย์
๓) ชิงทรัพย์ (ทั้งได้รับบาดเจ็บและไม่บาดเจ็บ)
๔)
วางเพลิง
๕) ลักพาเรียกค่าไถ่

กลุ่มที่ ๒ เป็นคดีประเภทที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกายและเพศ ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้

๑) ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
๒)
ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา
๓)
กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
๔)
พยายามฆ่า
๕)
ทำร้ายร่างกาย
๖) ข่มขืนกระทำชำเรา

กลุ่มที่ ๓ เป็นคดีประเภทที่เกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้
๑)
ลักทรัพย์
๒)
วิ่งราวทรัพย์
๓) รีดเอาทรัพย์
๔)
กรรโชกทรัพย์
๕) ชิงทรัพย์ (
ทั้งได้รับบาดเจ็บและไม่บาดเจ็บ)
๖)
ปล้นทรัพย์
๗) รับของโจร
๘) ทำให้เสียทรัพย์

กลุ่มที่ ๔ เป็นคดีประเภทคดีที่น่าสนใจ ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้
๑)
โจรกรรมรถจักรยานยนต์
๒)
โจรกรรมรถยนต์
๓)
โจรกรรมโค-กระบือ
๔) โจรกรรมเครื่องมือการเกษตร
๕)
ปล้น-ชิงทรัพย์รถยนต์โดยสาร
๖) ปล้น-ชิงทรัพย์รถแท็กซี่
๗)
ข่มขืนและฆ่า
๘) ลักพาเรียกค่าไถ่
๙) ฉ้อโกงทรัพย์
๑๐) ยักยอกทรัพย์

กลุ่มที่ ๕ เป็นคดีประเภทที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้๑) พ.ร.บ.อาวุธปืน แบ่งเป็น - อาวุธปืนธรรมดา - อาวุธปืนสงคราม – วัตถุระเบิด๒) พ.ร.บ.การพนัน แบ่งเป็น - การพนันทั่วไป – การพนันสลากกินรวบ๓) พ.ร.บ.ยาเสพติด แบ่งเป็น - เฮโรอีน - ฝิ่น - กัญชา - สารระเหย - ยาบ้า – พืชกระท่อม๔) พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี๕) พ.ร.บ.สถานบริการ๖) พ.ร.บ.โรงแรม๗) มีหรือเผยแพร่วัตถุลามกอนาจาร

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็คือเรื่องราวของคดีอาญา ๕ กลุ่มหรือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะเรียกกันติดปากว่า "คดี ๕ กลุ่ม" นั่นเอง สำหรับการนำคดีอาญา ๕ กลุ่มไปใช้นั้นก็สุดแล้วแต่นโยบายของผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะกำหนดว่าจะให้เป็นไปในทิศทางใดเช่นในสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่จะนำไปใช้เปรียบเทียบการเกิดหรือการจับกุมของคดีกลุ่มต่างๆ ตามห้วงเวลา เช่น ปีหรือเดือนเดียวกันระหว่างปีนี้กับปีหรือเดือนที่ผ่านมา เป็นต้น


หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเขียนนี้คงจะสร้างความกระจ่างหรือความเข้าใจแก่ท่านผู้อ่านบ้างตามสมควรนะครับ

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น