วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การใช้วิทยุสื่อสาร : ด.ต.สุใจ ศรีธิเมืองใจ ผู้เขียน (๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓)

วันนี้ผมขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้วิทยุสื่อสารและรหัสของตำรวจมาบอกกล่าวกันครับเพราะเห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์สำหรับหลายๆ ท่านที่จะใช้อย่างถูกวิธีทั้งตัวเครื่องและระเบียบวิธีในการใช้ สำหรับข้อเขียนนี้ผมนำมาจากข้อเขียนของ ด.ต.สุใจ ศรีธิเมืองใจ เจ้าหน้าที่สื่อสาร สภ.พานที่เขียนไว้ในการเป็นวิทยากรด้านนี้หลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณ ด.ต.สุใจมา ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูงด้วยครับ

ผม ด.ต.สุใจ ศรีธิเมืองใจ ตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป.) สภ.พาน ปฏิบัติหน้าที่พนักงานวิทยุประจำศูนย์ฯ มาเกือบ ๒๐ ปี เคยผ่านการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมวิชาเทคนิคสื่อสาร กก.๓ บก.สส. หลักสูตรพนักงานสื่อสารเร่งรัด รุ่นที่ ๑๗ ระยะเวลาการฝึกอบรม ๓๓ วัน แต่วันนี้ผมจะใช้เวลาประมาณ ๑ ชม. ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ เครื่องรับ ส่ง วิทยุมือถือ ในหัวข้อเรื่อง วิชาเทคนิคสื่อสาร รวมทั้งการแจ้งเหตุและติดต่อประสานงานฯ

มนุษย์เรานั้นรู้จักการติดต่อสื่อสารมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้วโดยการใช้สิ่งของ เครื่องหมายเห็นสัญลักษณ์แทนในการสื่อความหมายต่าง ๆ ในยุคนั้น ๆ และได้พัฒนามาตามยุคสมัยจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นยุคอิเลคทรอนิคเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของโลกก็ติดต่อกันได้
การติดต่อสื่อสารนั้นมีหลายวิธีหลายรูปแบบแล้วแต่เวลา โอกาส และสถานที่การติดต่อสื่อสารทางวิทยุนั้น สะดวก รวดเร็วและประหยัด นับว่าเป็นวิธีการติดต่อง่ายที่สุด แต่ปัจจุบันนี้การรับ ส่งข่าวสารทางเครื่องโทรสาร (FAX) สะดวก รวดเร็วกว่า และยังมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไฮเทคที่สุด คือ การรับ ส่ง ข่าวสารทางอิเลคทรอนิค หรือที่ที่เรียกว่า ระบบ E-COP ซึ่งทาง สภ.พาน ได้รวมห้องวิทยุสื่อสารและห้องศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเข้าด้วยกัน เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวฯ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ผมเองทุกวันนี้ก็ฝึกรับ ส่ง ข่าวสาร อิเลคทรอนิค จากท่าน สวป.ฯ และเจ้าหน้าที่ E-cop อยู่เหมือนกัน
การติดต่อสื่อสารทางวิทยุนั้นทุกคนต้องมีรหัสนามเรียกขานของตนเอง และต้องรู้ความหายของรหัสโค้ด ว. ต่าง ๆ (ซึ่ง รหัส ว. ที่แจกให้จะอธิบายให้ทราบตอนท้ายอีกครั้งว่า ว. ใดบ้างที่ใช้บ่อย ๆ และควรจำ ) ก่อนอื่นจะแจ้งให้ทราบไว้ก่อนว่าการมีและใช้เครื่องรับ ส่ง วิทยุนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และใช้อยู่ในความถี่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่วันนี้เราจะไม่กล่าวถึงในเรื่องของการถูก ผิด แต่จะใช้อย่างไรให้ถูกต้อง ใช้ให้เป็นและเป็นใช้มากกว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องอายใคร
ก่อนจะใช้วิทยุให้สำรวจว่าวิทยุของท่านอยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานหรือไม่ ควรใช้วิทยุให้ห่างจากปากประมาณ ๑ ฝ่ามือ (บางคนใช้วิทยุห่างจนสุดช่วงแขนทำให้เสียงที่ออกไปเบามากทั้งที่สัญญาณคลื่นส่งออกไปเต็ม และบางคนพูดวิทยุใกล้ปากมากเกินไป จนได้ยินเสียงหายใจดังออกอากาศ บางคนพูดก่อนกดคีย์และปล่อยคีย์ก่อนจบ ข้อความจึงไม่สมบูรณ์ บางคนปล่อยคีย์ช้า ทำให้คู่สถานีไม่สามารถตอบได้ทันทีทำให้เสียเวลา)
การใช้เครื่องคับส่งวิทยุมือถือให้ถูกต้องและติดต่อได้ไกลนั้นจะต้องดึงสายอากาศออกให้ยาวที่สุดและอยู่ในแนวดิ่ง ควรใช้วิทยุในที่โล่งแจ้งให้ห่างจากอาคาร ต้นไม้ และสิ่งกีดขางอื่น ๆ อย่างน้อย ๕ เมตร โดยเฉพาะอาคารและสิ่งกีดขวางนั้นมีโลหะและมีโครงเหล็กเป็นการก่อสร้างควรอยู่บนเนินหรือที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ในหุบเขาหรือซอกตึกไม่อยู่ใต้สายไฟแรงสูง หรือสายโทรศัพท์ภายในรัศมี ๑๐ เมตร ( เช่นตู้ยามม่วงคำเวลาติดต่อไปที่ศูนย์วิทยุพานจะใช้วิทยุให้ห่างจากรัศมี ๑๐ เมตรใต้สายไฟแรงสูง) สำรวจแบตเตอรี่ประจุไฟเต็มหรือไม่ หามใช้วิทยุจนแบตเตอรี่หมดเพราะจะทำให้แบตเตอรี่ชำรุดอย่างถาวร หากมีสัญญาณเตือนให้นำไปชาร์ทไฟทันที อย่าใช้วิทยุในอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ( เช่นทิ้งวิทยุในรถยนต์โดยตากแดดจัด หากเรียกสถานีไม่ได้อย่าเรียกต่อไปเพราะอาจทำให้เครื่องวิทยุเสียหากสายอากาศชำรุดมองเห็นได้ชัดเจน ห้ามกดคีย์เป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เครื่องวิทยุเสียได้)
การใช้วิทยุจะต้องใช้ถ้อยคำหรือประโยคสั้น ๆ แต่ให้ได้ความหมายชัดเจนซึ่งอาจกำหนดได้โดยการใช้รหัสหรือโค้ด ว. ขึ้นมาแทน ตัวบุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันระหว่างข่ายการสื่อสารเดียวกัน การใช้โค้ด ว. นั้นต้องใช้ให้ตรงความหมายไม่ควรดัดแปลงผิดเพี้ยนหรือต่อเติมให้ยืดยาวกว่าเดิมจะต้องใช้ให้ตรงความหมายที่กำหนดไว้ไม่ควรใช้ในลักษณะยึดถือว่าตามกันมา ( เช่น ใช้คำว่า แหวน แทน วิทยุ ควรให้คำว่า ว. หรือ วิทยุ ใช้คำว่า โมบาย แทนคำว่า รถ ควรใช้คำว่า ๐๓ หรือกำลังขับรถ , อยู่ในรถ ใช้คำว่าล้อหมุน แทนคำว่า ว.๒๑ หรือเคลื่อนที่ ซึ่งคำว่า แหวน , โมบาย , ล้อหมุน นั้นไม่ถูกต้อง ไม่ควรใช้ในข่ายการสื่อสาร) การอ่านออกเสียงในภาษาสื่อสารทางวิทยุไม่ใช้ข้อความซ้ำเช่น ม่วงคำ ๐๐๑ ม่วงคำ ๐๐๑ พาน ๐๐๒ ว.๒ ควรออกเสียงว่า ม่วงคำ ๐๐๑ จาก พาน ๐๐๒ เปลี่ยน หรือภาษาแสลง เช่น รพ. ไม่อ่านออกเสียงว่า เรือพาน ให้อ่านออกเสียงว่า รพ. หรือโรงพยาบาล ๑. ไม่ออกเสียงว่าเอี่ยวหรือเอ็ดให้อ่านออกเสียงว่า หนึ่ง ๒. ไม่อ่านออกเสียงโท ให้อ่านออกเสียงว่า สอง ๔๔๔ ไม่อ่านออกเสียงว่า ตองสี่ เพราะผู้รับข่าวอาจรับเป็น ๒๔ เพราะคำว่า ตองพ้องเสียงกับคำว่า ๒ ( ให้อ่านออกเสียงว่า สี่ สี่ สี่ หรือ ๑๑๑ ไม่อ่านออกเสียงว่า ตองหนึ่ง ให้ อ่านออกเสียงว่า หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง หรือ ๒๒๙ ไม่อ่านออกเสียงว่า โทโทเก้า ให้อ่านว่า สอง สอง เก้า และ ว.๒ ว.๘ ไม่อ่านออกเสียงว่า สองแปด ซึ่งไม่ถูกต้อง
การติดต่อสื่อสารที่ถูกต้องนั้นต้องเรียกคู่สถานีก่อนตามด้วยนามเรียกขานของตนเอง และปิดท้ายด้วย ว.๒ ไม่เกิน ๓ ครั้ง ต่อ ๑ ช่วง การเรียกขาน (ตามระเบียบการสื่อสารแต่ส่วนมากจะเรียกกันเกินกว่านั้น ) หากติดต่อไปไม่ได้ให้เว้นช่วงไว้ก่อนจึงค่อยติดต่อเป็นระยะๆ ถ้าเร่งด่วนทุก ๕ หรือ ๑๐ นาทีก็ทำได้)
ข้อปฏิบัติและมารยาทในการใช้วิทยุสื่อสาร
.ใช้ข้อความสั้น ๆ กะทัดรัดได้ใจความ ไม่ใช้ข้อความเกินความจำเป็นและไม่ควรเปลี่ยนแปลง โค้ด ว. ไปลักษณะเชิงพูดเล่น เช่น ว.๔ ทางน้ำ
.ต้องใช้ภาษาราชการหรือภาษาไทยกลางเท่านั้น ไม่ใช้ภาษาท้องถิ่นถึงแม้คู่สถานี (ผู้ที่เรากำลังติดต่อทางวิทยุด้วย) จะเป็นคนท้องถิ่นเดียวกันและเพราะผู้ฟังอื่นไม่เข้าใจได้ทั้งหมดเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งเชื้อชาติเป็นทางให้เกิดความแตกแยกสามัคคี
.ต้องใช้เฉพาะความถี่ที่ที่หน่วยงานของตนได้รับอนุญาตเท่านั้นเพราะการออกนอกความถี่อาจไปรบกวนความถี่ต่างข่ายงานทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานอื่น ๆ ได้ (ข้อนี้เป็นการผ่อนผันระหว่างฝ่ายปกครองกับข่ายตำรวจ สภ.พาน เพื่อการประสานงานร่วมกัน )
. ต้องขออนุญาตสถานีควบคุมข่ายก่อนเมื่อจะติดต่อสื่อสารกันโดยตรง การติดต่อโดยตรงระหว่างลูกข่าย ต้องแจ้งแม่ข่ายทราย ไม่สมควรเรียกเข้าต่างข่ายงานด้วยตนเอง (ยกเว้นกรณีฉุกเฉินรอไม่ได้) เพราะนามเรียกขานอาจซ้ำกับลูกข่ายนั้นฯ
. ต้องไม่ใช้ช่องสื่อสารในขณะที่ยังมีการรับ ส่งข่าวสารกันอยู่ ไม่ควรเรียกแทรกเข้าไปในขณะที่การรับส่งข่าวสารในความถี่นั้นฯ ยังไม่เสร็จสิ้นเพราะอาจทำให้เสียหายต่อทางราชการ (ยกเว้นการแจ้งเหตุซึ่งสามารถกระทำได้ทันทีจะได้กล่าวถึงในช่วงต่อไป) ผมถึงบอกว่าก่อนที่จะติดต่อทางวิทยุให้ยกขึ้นมาแนบหูฟังดูก่อนว่าคลื่นความถี่ของคู่สถานีที่เราต้องติดต่อนั้นว่างหรือไม่
. ต้องไม่ส่งเสียงเพลง เสียงดนตรี หรือรายการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเสียงแปลกประหลาดออกอากาศ หรือชอบทำคีย์ค้างบ่อย ๆ เป็นประจำ คงเป็นการจงใจให้ค้างเป็นแน่ ๆ การประชาพันธ์บนความถี่ทำได้เฉพาะสถานีควบคุมข่าย และโดยพนักงานวิทยุที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
. ต้องไม่วิจารณ์ บุคคล การเมือง การค้า ศาสนา หรือส่งข้อความที่เป็นการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง การวิจารณ์ย่อมเกิดข้อขัดแย้ง การพูดหรือวิจารณ์ในส่วนที่มีผลประโยชน์ผู้เสียผลประโยชน์เกิดความแค้น อาจก่อให้เกิดการรบกวนช่องความถี่สื่อสารโดยการจงใจ
. ต้องไม่แอบอ้าง หรือใช้นามเรียกขานของคนอื่น และไม่ให้ผู้อื่นนำนามเรียกขานของตนเองไปใช้ ( ข้อนี้ยังมีตำรวจบางนายซึ่งไม่ทราบข้อปฏิบัติและมารยาทในการใช้วิทยุสื่อสารการะทำอยู่ ซึ่งไม่ควรเอาอย่าง)
. ต้องไม่ให้ผู้อื่นหยิบยืมเครื่องมือสื่อสารของตนเองไปใช้ ยกเว้นการนำเครื่องกองกลางไป
ปฏิบัติงานชั่วคราว โดยได้ดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเท่านั้น
๑๐. ต้องพกพาวิทยุสื่อสารในลักษณะเหมาะสม เปิดเครื่องได้ก็ควรกระทำ และอีกสาถนการณ์หนึ่งหากตัวเราเข้าไปอยู่ในบริเวณที่กลุ่มมิจฉาชีพ หรือญาติของผู้ที่ประกอบการผิดกฎหมายและเราเปิดวิทยุเสียงดังแล้วคนร้ายย่อมได้ยินและรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้
ท่านที่มีและใช้วิทยุอยู่พึงระลึกอยู่เสมอว่าไม่มีความลับบนความถี่จะกดคีย์ให้คิดก่อน เพราะว่าหากท่าน ว. ส่งข้อความไปแล้วทุกคนที่มี ว. และเปิดในย่านความถี่นั้นฯ ก็สามารถรับฟังข้อความของท่านได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่ส่งข้อความออกไปทาง ว. ให้คิดก่อนว่าต้องการพูดกับใคร เรื่องอะไร อยู่ในย่านความถี่ใด มีอยู่บ่อย ๆ ว.เปิดย่านความถี่ตำรวจพาน แต่ส่ง ว. เป็นว่า ขออนุญาต ไชยา ... เรียกอยู่นั่นแหละเป็น สิบกว่าครั้ง ก็มันต่างคลื่นความถี่ จะ ว. ๒ ได้ยังไง ( หวังว่าต่อไปกรณีนี้ในส่วนของตำบลม่วงคำคงจะไม่มีให้ได้ยินอีกนะครับ)
การแจ้งเหตุสามารถแจ้งได้ทันทีโดยทำได้ดังนี้ ขออนุญาตแจ้งเหตุ พาน จาก ม่วงคำ .. ว.๒ เมื่อพานตอบ ว.๒ แล้วก็แจ้งเหตุเป็นข้อความ (ว.๘) เข้าไป แต่ต้องเป็นเหตุด่วน เหตุร้าย เหตุเร่งด่วนจริง ๆ ถ้าหากไม่เป็นกรณีเร่งด่วนให้ย่านความถี่ว่างก่อนค่อยเรียกเข้าไปในย่านความถี่นั้น ๆ ก่อนแจ้งเหตุต้องดูให้ดี รู้ให้จริงชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถ้าจะให้แน่นอนไปดูที่เกิดเหตุด้วยตนเองก่อนให้ชัดแล้วค่อยแจ้งทาง ว. ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน หรือเหตุเร่งด่วน จริง ๆ เพราะว่าหากเป็นเหตุเล็กๆ น้อยๆ ไม่รุนแรงสามารถตกลงรอมชอมกันได้ หรือไม่มีเหตุเกิดขึ้นจริง จะได้ไม่เสียเวลา และเกิดความเสียงหายต่อทางราชการได้) เช่นเดียวกันการแจ้งเหตุทาง ว. ให้ใช้ข้อความสั้น ๆ ฟังแล้วเข้าใจง่าย ใช้ขอความสั้น ๆ กะทัดรัดได้ใจความ หรือจะใช้รหัส ว. แทนก็ได้
รหัสการแจ้งเหตุทางวิทยุ
เหตุ ๑๐๐ ประทุษร้ายทรัพย์
เหตุ ๑๑๑ ลักทรัพย์
เหตุ ๑๒๑ วิ่งราวทรัพย์
เหตุ ๑๓๑ ชิงทรัพย์
เหตุ ๑๔๑ ปล้นทรัพย์
เหตุ ๒๐๐ ประทุษร้ายต่อร่างกาย
เหตุ ๒๑๑ ทำร้ายร่างกายไม่ได้รับบาดเจ็บ
เหตุ ๒๓๑ ทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส
เหตุ ๒๔๑ ฆ่าคนตาย
เหตุ ๓๐๐ การพนันเป็นบ่อน
เหตุ ๕๑๐ วัตถุต้องสงสัยเกี่ยวกับระเบิด
เหตุ ๕๑๑ ได้เกิดระเบิดขึ้นแล้ว
เหตุ ๕๑๒ วัตถุระเบิดได้ตรวจสอบแล้วไม่ระเบิด
เหตุ ๖๐๐ นักเรียนจะก่อเหตุทะเลาะวิวาท
เหตุ ๖๐๑ นักเรียนรวมกลุ่มมีสิ่งบอกเหตุเชื่อว่าจะก่อเหตุ
เหตุ ๖๐๒ นักเรียนก่อเหตุหลบหนีไปแล้ว
เหตุ ๖๐๓ นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายซึ่งกันและกัน
เหตุ ๖๐๔ นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายซึ่งกันและกันถึงตาย
เหตุ ๖๐๕ นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายซึ่งกันและกันมีวัตถุระเบิด
รหัส ว.
ว.๐ ขอรับคำสั่ง ต้องการทราบ ให้บอกด้วย
ว.๐๐ คอยก่อน
ว.๑ ขอทราบที่อยู่
ว.๒ ได้ยินหรือไม่
ว.๓ ให้ทวนข้อความซ้ำอีก
ว.๔ ออกไปปฏิบัติการตามปกติ
ว.๕ ปฏิบัติการลับ
ว.๖ ขออนุญาตติดต่อทางวิทยุ
ว.๗ ขอความช่วยเหลือ
ว.๘ มีข่าว ข้อความยาวที่จะส่งทางวิทยุ
ว.๙ มีเหตุฉุกเฉิน เหตุด่วนสำคัญ ให้ทุกสถานีคอยรับคำสั่งจากศูนย์ รถวิทยุมีเหตุฉุกเฉินเหตุด่วนขออนุญาตใช้ไฟแดงและไซเรน
ว.๑๐ หยุดรถปฏิบัติงาน สังเกตการณ์ติดต่อทาง ว. ได้
ว.๑๑ หยุดรถไม่เกี่ยวกับหน้าที่ แต่ติดต่อทาง ว. ได้
ว.๑๒ หยุดรถ ปิดเครื่องวิทยุ
ว.๑๓ ให้ติดต่อทางโทรศัพท์
ว.๑๔ เลิกตรวจ เลิกปฏิบัติการ
ว.๑๕ ให้ไปพบ
ว.๑๖ ทดลองเครื่องรับ ส่ง วิทยุ
ว.๑๖๑ ฟังไม่รู้เรื่อง มีเสียงรบกวนมาก
ว.๑๖๒ รับฟังไม่ชัดเจน
ว.๑๖๓ รับฟังชัดเจนพอใช้ได้
ว.๑๖๔ รับฟังชัดเจนดี
ว.๑๖๕ รับฟังชัดเจนดีมาก
ว.๑๗ จุดอันตราย ห้ามผ่าน (บอกสถานที่)
ว.๑๘ นำรถออกทดลองเครื่องยนต์
ว.๑๙ สถานีวิทยุอยู่ในภาวะคับขัน ถูกยึดหรือถูกโจมตี ไม่สามารถป้องกันตนเองได้
ว.๒๐ ตรวจค้น
ว.๒๑ ออกจาก
ว.๒๒ ถึง
ว.๒๓ ผ่าน
ว.๒๔ เทียบเวลา แจ้งเวลา
ว.๒๕ จะไปที่ใด ที่หมายใด
ว.๒๖ ให้ติดต่อทางวิทยุให้น้อยที่สุด
ว.๒๗ ติดต่อทางโทรพิมพ์
ว.๒๘ ประชุม
ว.๒๙ มีราชการอะไร
ว.๓๐ ขอทราบจำนวน (คน สิ่งของ อาวุธ)
ว.๓๑ ความถี่วิทยุช่อง ๑
ว.๓๒ ความถี่วิทยุช่อง ๒
ว.๓๓ ความถี่วิทยุช่อง ๓
ว.๓๔ ความถี่วิทยุช่อง ๔
ว.๓๕ เตรียมพร้อมออกปฏิบัติงาน
ว.๓๖ เตรียมพร้อมเต็มอัตรา
ว.๓๗ เตรียมพร้อมครึ่งอัตรา
ว.๓๘ เตรียมพร้อมหนึ่งในสาม
ว.๓๙ การจราจรคับคั่ง
ว.๔๐ มีอุบัติเหตุทางรถ
ว.๔๑ มีสัญญาณไฟจราจรเสีย
ว.๔๒ ขอให้จัดยานพาหนะนำขบวน
ว.๔๓ จุดตรวจ ด่านตรวจยานพาหนะ (บอกสถานที่)
ว.๔๔ ติดต่อทางโทรสาร
ว.๔๕ ตรวจสอบบุคคล
. พบข้อมูล
. ไม่พบข้อมูล
รหัสหรือโค้ด ว. ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ ตั้งแต่ ว.๐ ถึง ว.๔๖ นอกเหนือจากนั้นให้ใช้เป็นรหัสตัวเลขแทน โดยไม่มีคำว่า ว. นำหน้าตัวเลข เช่น ที่ทำงานใช้ รหัส ๐๑ บ้านพักใช้รหัส ๐๒ รถยนต์ใช้ ๐๓ ห้องประชุมใช้รหัส ๐๔ ที่เคยใช้ ๖๐ ควรใช้คำว่า ญาติ , เพื่อน , พ่อ , แม่ ฯลฯ
๖๑ ควรใช้คำว่า ขอบคุณ
๖๒ ควรใช้คำว่า เสบียง หรือสิ่งของ (ให้ระบุชื่อสิ่งของนั้นฯ)
๖๓ ควรใช้คำว่า บ้านพัก หรือ ๐๒
๖๔ ควรใช้คำว่า ภารกิจส่วนตัว
๕๑ หรือ ๖๐๕ ควรใช้คำว่า รับประทานอาหาร
๑๐๐ ควรใช้คำว่า ภารกิจส่วนตัว
๒๘ (สองแปด) ควรใช้คำว่า ว.สอง ว.แปด
ว.๑๐ (ว.หนึ่งศูนย์) ควรใช้ ว.๑๐ (ว.สิบ)
ว.๒๑ (ว.ยี่สิบเอ็ด) ควรใช้ ว.๒๑ (ว.ยี่สิบหนึ่ง)
ว.๔๐ (ว.สี่ศูนย์) ควรใช้ ว.๔๐ (ว.สี่สิบ)
กำลังโมบาย ควรใช้คำว่า ๐๓ หรือยังอยู่ในรถ , กำลังขับรถ , ทำหน้าที่พลขับ
ล้อหมุน ควรใช้คำว่า ๒๑ (ว.ยี่สิบหนึ่ง) หรือ เคลื่อนที่
ไม่มีความลับในความถี่ จะกดคีย์ให้คิดก่อน


ด้วยความปรารถนาดีจาก ด.ต.สุใจ ศรีธิเมืองใจ เจ้าหน้าที่สื่อสาร สภ.พาน

9 ความคิดเห็น:

  1. สุดยอด บ่ะก้วยเต๊ด ครับผม..
    http://www.thaipoliceplus.com

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ4 พฤษภาคม 2555 เวลา 00:38

    เมียควรใช้คำว่า แม่ไอ้หนู

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ21 พฤษภาคม 2555 เวลา 11:09

    ขอทราบการกำหนดนามเรียกขานของสายตรวจแต่ละสายงานครับพี่ เช่น จราจร ,จยย.รถยนต์ ผมหาระเบียบแล้วไม่เจอ นายเค้าอยากรู้คับ

    ตอบลบ
  4. เรื่องนี้ไม่มีระเบียบกำหนดไว้ครับเพียงแต่เราทำตามที่เคยปฏิบัติมาซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นระเบียบก็ได้แต่้เป็นแบบที่ไม่เป็นทางการ ง่ายๆ นะครับ
    * สายป้องกันปราบปรามเริ่มต้นด้วยเลข 2
    * สายงานสอบสวนเริ่มต้นด้วยเลข 3
    * สายงานจราจรเริ่มต้นด้วยเลข 6
    * สายงานสืบสวนเริ่มต้นด้วยเลข 7
    * สายงานอำนวยการเริ่มต้นด้วยเลข 8
    ส่วนเลขอื่นๆ ก็คงจะให้แต่ละหน่วยกำหนดภายในกันเองนั่นแหละ

    ตอบลบ
  5. ขอความอนุเคราะห์ครับ...อยากทราบว่าการเปลี่ยนหรือตั้งนามเรียกขานวิทยุสื่อสารทางการปกครอง มีหลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับหรือการอ้างอิงอะไร อย่างไรบ้าง เช่น อำเภอเมือง.... นามเรียกขานคือ มณฑล ....กรุณาแจ้งกลับ onemores@live.com ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ?

    ตอบลบ
  6. นักวิทยุสมัครเล่นพบเจอเหตุ แจ้งตำรวจได้ไหมครับ เช่น มีเหตุ ว.40 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ อะไรประมาณนี้ และถ้าแจ้งจะแจ้งว่าอย่างไร ผมอยู่ขอนแก่น ขอนแก่นจะเป็น แก่นนคร

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ26 มีนาคม 2556 เวลา 02:58

    น่านดิกำลังอยากจะถามเหมือนกันว้านักวิทยุสมัครเล่นจะแจ้งเหตุศูนย์ตำรวจได้มั้ยต้องทำอย่างไร

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ31 กรกฎาคม 2557 เวลา 08:03

    แจ้งที่ศูนย์ควบคุมข่าย

    ตอบลบ
  9. ไม่ระบุชื่อ2 มกราคม 2559 เวลา 01:41

    อย่างถ้าเราเป็นมูลนิธิ/ชมรม/สมาคม มีการปฏิบัติหน้าที่กระจายทั่วไป มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการใด ในการกำหนดนามเรียกขานไหมครับ กลัวว่ากำหนดแล้วซ้ำกับตำรวจ(แต่เราใช้กันเฉพาะภายในกลุ่มเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับความถี่ตำรวจ) แล้วจะมีปัญหา แต่ลองค้นหาระเบียบแล้ว ไม่พบว่ามีกำหนดไว้ ยังไงขอคำแนะนำด้วยครับ

    ตอบลบ