วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัติความเป็นมาและความหมายของ "โล่เขน" (๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา รายงานตัวครับผม

วันนี้วันจันทร์ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๘ หลัง ปีขาล จุลศักราช (จ.ศ.) ๑๓๗๒ ตรงกับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ วันทำงานวันแรกของสัปดาห์นี้ซึ่งคงจะเต็มไปด้วยความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าด้วยกันทุกคนหลังจากตรากตรำอดหลับอดนอนกับเทศกาลแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี ร.ศ.๒๒๙ ที่ผ่านพ้นไปหมาดๆ เมื่อคืนนี้ด้วยชัยชนะอันสวยสดงดงามของสเปนที่มีต่อเนเธอร์แลนด์คู่ชิง ๑ ประตูต่อ ๐

ช่วงพักเที่ยงวันนี้ผมมีความรู้เกี่ยวกับตำรวจมาฝากกันเหมือนเดิม เรื่องนี้เขียนค้างไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงก่อนชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกคืนที่ผ่านมา ตอนพักเที่ยงเลยเอามาจัดการเ้พิ่มนิดหน่อยซึ่งตอนนี้เสร็จแล้วเรื่องนั้นก็คือ "ประวัติความเป็นมาและความหมายของโล่เขน"

ท่านที่รักครับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (หรือเดิมเรียกกรมตำรวจ) มีเครื่องหมายราชการเป็นรูปพระแสงดาบเขนและโล่เป็นรูปวงกลมเส้นคู่สองชั้น วงนอกเป็นลายพรรณพฤกษา วงในเป็นลายใบเทศผูกลายเป็นรูปหน้าสิงห์หรือหน้ายักษ์เรียกว่าจตุรมุข ตามธรรมเนียมโบราณที่แกะสลักรูปหน้ายักษ์จตุรมุขไว้บนหน้าบันประตูทั้งสี่ทิศของปราสาทหิน ด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ทวารเข้าออก ปกป้องคุ้มครองและขจัดสิ่งชั่วร้าย ส่วน "ดาบ" ที่คาดติดอยู่ในปลอกมีลวดลายกนก ทั้งนี้สัญลักษณ์ไม่จำกัดสีและขนาด

นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ กวีโวหารและกวีโบราณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อธิบายความเป็นมาเก็บความได้ดังนี้ ก่อนเป็นดาบเขนและโล่ซึ่งเหมือนรูปวงกลมของฆ้องด้านอัด มีไม้ทแยงตีฆ้องพาด โดยที่โบราณนิยมเขียนลวดลายลงบนฆ้อง เป็นลายรดน้ำบ้าง กนกเปลวบ้าง ก้านขดบ้าง หรือเขียนเป็นหน้าราหู เมื่อหน้าอัดของฆ้องเต็มไปด้วยลวดลายดังกล่าว ครั้นมาแกะเป็นตราอาบครั่งทำให้มีลักษณะคล้ายโล่ ในตรายังมีไม้ตีฆ้องพาดทแยง จึงมีลักษณะคล้ายกับเอาดาบพาดโล่อย่างสมส่วนและใกล้ความเป็นจริง

ความนิยมเขียนลวดลายบนฆ้องหรือบนโล่ให้เป็นภาพ เช่น หน้าราหู หน้ายักษ์มาร หรือรูปหน้าสิงห์ สืบเนื่องมา
จากความเชื่อถือผีสางเทวดา เช่นเขียนลายหน้าราหูก็มักจะเป็นรูปอมดวงจันทร์ หมายถึงผู้ถือฆ้องหรือโล่จะสามารถครอบงำสรรพสัตว์หรือต่อสู้อริราชศัตรูได้ทุกเมื่อ ถ้าเป็นหน้ายักษ์ต้องทำเป็นปากแสยะกว้างตาโปน ถ้าเป็นหน้าสิงห์ก็แยกเขี้ยวแสยะปากดูน่ากลัว อันเป็นการข่มศัตรูไปในตัว ล้วนแต่ลักษณะที่น่าเกรงขามทั้งสิ้น โดยต้องทาสีแดงไว้ด้วย

ตำรวจไทยเกิดเป็นรูปแบบองค์กรครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้จัดตั้งองค์กรตำรวจและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยให้เป็นระบบ แสดงความเป็นอารยะทัดเทียมตะวันตก โปรดให้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูป "หนุมานสี่กร" ก่อนเปลี่ยนเป็น "พระแสงดาบเขนและโล่" ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ครั้งพระราชทานกรมตำรวจภูธร พ.ศ.๒๔๔๐ ออกแบบโดย ม.จ.ประวิช ชุมสาย ผู้ผูกลายพระราชลัญจกรแผ่นดิน ถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ดาบเขนและโล่ปรากฏอยู่ในพระธรรมนูญตราที่โปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ให้เป็นตราประจำกรมพลตระเวน (ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ เปลี่ยนเป็นกรมพลตำรวจนครบาล)

โล่และดาบมีนัยแห่งความหมายอันลึกซึ้งที่แสดงถึงความไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่โปรดให้ตำรวจราชองครักษ์เท่านั้นที่จะมีอาวุธ (ดาบ) ติดตัวประจำกายเข้าถึงพระราชฐานชั้นในได้ โล่และดาบจึงแสดงถึงเกียรติภูมิแห่งหน้าที่ เป็นศักดิ์ศรีแห่งอำนาจที่ได้รับพระราชทานเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ และเป็นตำรวจของประชาชน มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ระงับทุกข์และบำรุงความผาสุกให้ประชาชนตามคำ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ครับ นั่นก็คือ
ประวัติความเป็นมาและความหมายของโล่เขนซึ่งคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์ฺต่อหลา่ยๆ ท่านบ้างตามสมควร

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ3 มีนาคม 2555 เวลา 09:12

    ขอบคุณมากครับ สาํหรับความรู้

    ตอบลบ
  2. การใช้ตราสัญญาลักษณ์นี้ ต้องใช้หลักการอย่างไรครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ28 สิงหาคม 2557 เวลา 23:07

    ตกลงคือ ดาบเขน หรือโล่ห์เขนกันแน่ครับ เพราะท่านเขียนมาทั้งดาบเขนและโล่ห์เขน ซึ่งความหมายของคำว่าเขนคือ สิ่งป้องกันอาวุธลักษณะกลม ผมว่าดาบเขนไม่น่าจะถูกต้องนักนะครับ ช่วยหาคำตอบที่กระจ่างด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  4. ประดับความรู้ "ดาบ"
    ในตราสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือดาบของใคร: http://youtu.be/2_7dD8Q9fGA

    ตอบลบ