วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นายกฯหวังพึ่งกต.ตร. ลดความขัดแย้งทางการเมือง (๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมกต.ตร.ที่ได้รับตำแหน่งใหม่ทั่วประเทศ ๑๕,๐๐๐ คน ที่สโมสรตำรวจ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หวังพึ่งกต.ตร.ช่วยตำรวจในการลดความขัดแย้งทางการเมืองให้ประชาชนสมานฉันท์กัน

เมื่อเวลา ๑๐.๓๐ น. วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานมอบนโยบายในการปฏิบัติงาน ให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) พร้อมทั้งประชุมกต.ตร. ภาคประชาชน วาระที่กต.ตร.ชุดใหม่ทั่วประเทศที่ได้รับเลือกเข้ารับตำแหน่งจำนวน ๑๕,๐๐๐ คน พร้อมประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ผ่านไปยังจ.นครราชสีมา จ.ลพบุรี จ.เชียงใหม่ และจ.สุราษฎร์ธานี โดยมีพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผบ.ตร. พร้อมผู้บังคับบัญชาระดับสูงร่วมประชุม ส่วนที่สโมสรตำรวจมีกต.ตร.มาร่วมประชุมประมาณ ๑,๐๐๐ คน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในภาวะที่บ้านเมืองมีความขัดแย้ง ทำให้การทำงานของตำรวจต้องเผชิญความกดดันหลายด้าน เนื่องจากสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมือง ทำให้เกิดปัญหาทั้งอาชญากรรม ยาเสพติด อบายมุข รวมทั้งความขัดแย้ง เนื่องจากการแตกแยกความคิดทางการเมือง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรง การละเมิดกฎหมาย ทำให้ภาระของตำรวจมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากสังคมกดดัน อยากเห็นการทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพ การทำงานของกต.ตร.จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน หากหน่วยงานรัฐเชื่อมกับประชาชนได้ ก็จะทำให้การทำงานต่างๆ สำเร็จโดยง่าย

"หน้าที่ของกต.ตร. ในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ เป็นพลังสำคัญที่ควรนำมาใช้ในช่วงที่บ้านเมืองต้องการกลับสู่ภาวะปกติ การสมานฉันท์ต้องการกลไกที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข เป็นเสมือนพลังของประชาชนที่เป็นกระจกเงาสะท้อนการทำงานของตำรวจให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปหากมีการใช้อำนาจในส่วนนี้อย่างจริงจัง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน พล.ต.อ.ปทีป กล่าวว่า กต.ตร.เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างตำรวจกับประชาชนให้มีความใกล้ชิด และมีส่วนร่วมมากขึ้น ภาระสำคัญคือตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล รวมทั้งส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วมสนับสนุนการทำงานของตำรวจ ซึ่งกต.ตร.ทุกระดับมีความสำคัญ โดยเฉพาะการดูแลป้องกันปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และข้อพิพาทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จในการปรับปรุงองค์กรตำรวจ เพื่อประชาชนในอนาคต และก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของสังคม

<< ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/pol/96976 >>

อนึ่ง คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจหรือ กต.ตร.นั้นเป็นไปตามระเบียบ ก.ต.ช. (คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ) ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งปัจจุบันมีจำนวน ๓ ฉบับดังนี้
ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๔๙)
ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๐)
ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๕๑)

สำหรับเรื่องราวของคณะกรรมการ กต.ตร.นี้ผมจะนำมาเสนอให้ทราบในโอกาสต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น