วันนี้วันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปี วันหยุดสำหรับพี่น้องหลายๆ คน แต่ก็เหมือนเดิมครับตำรวจเรายังคงทำงานรับใช้และบริการพี่น้องประชาชนตามปกติตลอด ๒๔ ชั่วโมง มีอะไรจะให้พวกเราัรับใช้ก็มิพักต้องเกรงใจไปเลยนะขอรับ พวกเราพร้อมเสมอสำหรับพี่น้องอันเปนที่รักยิ่งของเรา "ตำรวจไทย"
แหม เปิดบทความวันนี้ด้วยสำบัดสำนวนเก่าๆ อีกแล้ว เนี่ยะ มีพี่น้องหลายคนบอกผมทางเครื่องมือสื่อสารไร้สายซึ่งยุคเก่าไม่มีแลสมัยปัตตยุบันนี้เรียก "โทรศัพท์" ว่า "พี่สุพจน์เขียนเรื่องเก่ามากไปหรือเปล่าเลยทำให้ใช้คำเก่าๆ ไปโดยมิรู้ตัว" เอ้อ คงจะเป็นเยี่ยงนี้แน่แท้กระมัง ผมเองใช้คำเก่าๆ ไปโดยมิรู้ตัวอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน แต่ก็ดีนะครับผมว่า อย่างน้อยที่สุดเราชนรุ่นหลัีงจะได้รู้ว่าศัพท์แสงของคนรุ่นเก่าๆ น่ะใช้แบบใด แล้วก็รวมไปถึงจุดประสงค์หลักของผมเองด้วยที่บล็อกนี้นอกจากจะบันทึกหรือเผยแพร่การปฏิบัติงานแต่ละวันแต่ละช่วงว่าทำอะไรไปบ้างแล้วถ้าวันไหนมีเวลาว่างมากหรือไม่มีผลการปฏิบัติที่เป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นวันหยุดผมก็จะนำเรื่องราวอื่นๆ มาเล่ามาบอกกันทุกวันดั่งเช่นที่พี่ๆ น้องๆ หากติดตามมาตลอดคงจะรู้ดี แล้วเรื่องราวอื่นๆ ที่มิใช่การปฏิบัติงานประจำวันของผมนั้นแน่นอนครับย่อมไม่พ้นเรื่องของ "ตำรวจ" ไปได้ เพราะผมเป็นตำรวจย่อมรู้เรื่องตำรวจค่อนข้างดีกว่าพี่น้องอาชีพอื่น ครั้นจะเขียนเรื่องเลี้ยงปลา ปลูกข้าวก็ไม่ชำนาญ ต่อให้เอาหนังสือมาให้อ่านเป็น ๑๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่มจ้างก็เขียนไม่ได้ดั่งมืออาชีพเขาเลยต้องเป็นเรื่อง "ตำรวจ" ที่ผมคุ้นเคย
เรื่อง "ตำรวจ" นี้พี่น้องสามารถหาอ่านตามสื่อต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์,นิตยสาร หรือแม้กระทั่ง Internet แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวยุคปัตตยุบันเสียมากกว่า ผมก็เลยขออนุญาต "ฉีกแนว" ออกมาโดยเขียนเรื่องตำรวจซึ่งเป็น "ตำรวจยุคก่อน" ที่พี่น้องส่วนใหญ่ไม่ค่อยไ้ด้ยินได้ฟังหรือได้อ่านกันมากนัก รวมถึงขอเน้นอีกครั้งนะครับว่าการเขียนของผมจะมี "หลักฐาน" มาอ้างมาอิงทุกครั้งเพื่อจะได้รู้ว่าที่มาที่ไปนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่เขียนหรือ "โม้" เอาคนเดียว หลักฐานที่ว่านี้แน่นอนครับ "ราชกิจจานุเบกษา" นั่นเองซึ่งเมื่อเปิดดูแล้วผมว่านะผมยังเหลืออายุราชการอีกไม่กี่พันวันต่อให้เขียนวันละเรื่องสองเรื่องโดยนำข้อมูลมาจากราชกิจจาฯ เมื่อปลดชราฤาที่ศัพท์แสงสมัยปัตตยุบันเรียกว่า "เกษียณอายุราชการ" แ้ล้วก็หาอาจเขียนได้หมดไม่ เลยปวารณาตนว่าจะเขียนเรื่องลักษณะเช่นนี้ต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ โอ้....กระไรจะขนาดนั้น

เอ้า แล้วสมัยก่อนเขาประกาศกันแบบไหน ประกาศที่ใด พี่น้องประชาชนรู้ได้เยี่ยงไร ไม่ยากครับ ก็เป็นการพิมพ์ประกาศลงบนกระดาษนั่นแหละแล้วก็เอาประกาศนั้นไปติดตามที่ต่างๆ ที่มีผู้คนอยู่กันจำนวนมากเพื่อจะได้เห็นเยอะๆ แล้วประกาศเหล่านี้ถ้าเป็นเรื่องสำคัญๆ ทางการจะตีพิมพ์ลงราชกิจจาฯ เป็นหลักฐานด้วยก็อย่างที่ผมนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนบทความชิ้นนี้นั่นเอง ประกาศฉบับนี้เป็นกระแสพระบรมราชโองการของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เรื่องสินบล(สินบน)จับผู้ร้ายลักลอบวางเพลิงซึ่งมีใจความสรุปได้ดังนี้

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจึงทรงมีพระราชดำริห์(ดำริ)ว่า ถ้ากำลังพลตระเวน(ตำรวจ)ระงับไว้ไม่อยู่ ก็จะทรงให้กรมทหารบก ทหารเรือออกลาดตระเวนและสอดแนมจับตัวผู้ร้ายทิ้งไฟ(ลักลอบวางเพลิง) ให้จงได้ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกทหารเรือได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว
นอกจากนี้ยังทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่าถ้าเจ้าของบ้านเรือนหรือบุคคลผู้ใดจับผู้ร้ายทิ้งเพลิงได้ให้นำมาส่งยังกระทรวงนครบาล หรือจะนำส่งกรมยุทธนาธิการ กรมทหารเรือ กรมพระตำรวจก็ได้ แล้วให้กรมที่รับคนซึ่งสงสัยว่าเป็นคนร้ายนั้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบและส่งไปพิจารณายังศาลตามกระทรวง เมื่อพิจารณาได้ความว่าเป็นคนร้ายทิ้งเพลิงจริงจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้จับเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท และจะลงพระราชอาญาผู้ทิ้งเพลิงถึงสาหัส ท่านลองพิจารณาดูนะครับว่าเงิน ๑,๐๐๐ บาทสมัยนั้นมากมายขนาดไหน ถ้าเทียบกับยุคนี้ผู้ได้รับคงเป็นเศรษฐีย่อมๆ แน่นอน
แต่การจะได้รับเงินรางวัลนั้นเป็นเฉพาะเรื่องการทิ้งไฟหรือวางเพลิงโดยเจตนาเท่านั้น หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากความประมาทก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ประกาศนี้
ด้วยความทรงพระเมตตาที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านตลอดเสมอมา ในท้ายกระแสพระบรมราชโองการนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศตักเตือนเจ้าของบ้านเรือนโรงและผู้ที่เช่าเรือนโรงทำมาหากินโดยสุจริตให้ตั้งใจระวังป้องกันในการจุดเพลิงติดเพลิงเพื่อทำกิจการหรืออาศัยแสงสว่างอย่าให้ไฟนั้นอยู่ในที่ล่อแหลมหรือใช้ภาชนะไม่สมควรก่อหรือจุดไฟเพราะอาจลุกลามไปที่อื่นหรือล้มแตกทำลายได้ง่าย เมื่อตามเพลิง(จุดไฟ)ไว้แห่งใดก็ให้ระวังผูกใจไว้ที่แห่งนั้น หลังเสร็จสิ้นธุระแล้วให้ดับเสียให้หมดเชื้อ อย่าทิ้งไว้โดยความมักง่าย ถ้าเจ้าของบ้านเจ้าของทรัพย์ระวังเพลิงที่ตนเองก่อหรือจุดไว้และคอยสอดแนมจับตัวผู้ร้ายซึ่งสงสัยว่าจะมาจุดมาวางเพลิงประกอบกับการซึ่งเจ้าพนักงานจะลาดตระเวนระวังรักษา ไฟที่ไหม้เนืองๆ นี้คงจะสงบได้เป็นแน่ และให้ผู้ซึ่งได้ทราบหมายประกาศนี้บอกเล่าต่อๆ กันไป ให้ประพฤติตามกระแสพระบรมราชโองการซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศมานี้ทุกประการ
ครับ นั่นก็คือเรื่องราวของการประกาศให้สินบนนำจับผู้ร้ายเมื่อยุค ๑๐๐ ปีก่อนของไทยเรา ซึ่งหวังว่าคงจะเกิดประโยชน์หรือเป็นความรู้แก่พี่น้องอยู่บ้างตามสมควร
รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ
สวัสดีครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น