วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ออกไปสืบสวนผู้ร้ายด้วยตนเอง (๑ สิงหาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา ครับผม

วันนี้วันอาทิตย์แรม ๖ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปี วันเริ่มแรกแห่งเดือนที่ ๘ ของปีปฏิทินรวมทั้งเป็นวันหยุดสำหรับพี่น้องหลายๆ คนด้วย ขอให้มีความสุข สนุกสนาน รื่นเริง เบิกบานฤทัยโดยทั่วกัน รวมทั้งขออำนวยอวยพรมายังท่านที่มีวันคล้ายวันเกิดตรงกับวันนี้ให้มีสุขภาพจิต สุขภาพกายแข็งแรง มีเงินมีทองใช้เยอะๆ เป็นที่รักของทุกคนด้วยนะขอรับ

เมื่อสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยของเรามีการปฏิรูปการปกครองท้องที่หรือบ้านเมืองไปจากสมัยก่อนหน้านั้นอยู่หลายประการด้วยกัน อย่างเช่นการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม เทศาภิบาล เจ้าเมือง กรมการอะไรประมาณนี้ ต่อมาหลายอย่างถูกยกเลิกไปตามสภาพของยุคสมัย แต่หลายอย่างก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันอย่างเช่น กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเทศาภิบาล เจ้าเมืองกรมการสมัยนั้นก็คือมีพระราชประสงค์ที่จะทรงปกครองป้องกันเหตุร้าย รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้อยู่เย็นเป็นปกติสุข ปราศจากโจรผู้ร้ายหรือสิ่งที่จะทำให้อาณาประชาราษฎรของพระองค์มีความทุกข์ร้อนโดยการให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเอาใจใส่ดูแลและทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถซึ่งนั่นก็คือที่มาของข้อเขียนในวันนี้ "ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ออกไปสืบสวนผู้ร้ายด้วยตนเอง" ที่จะนำมาเสนอให้ทุกท่านได้ทราบกัน

ท่านที่รักครับ เรื่องนี้เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ลงนามโดยมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓๙ หน้า ๑๑๕-๑๑๘ มีสาระสำคัญดังนี้

ด้วยในเวลานี้เกิดโจรผู้ร้ายชุมชุมขึ้นในท้องที่หลายมณฑล (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องมณฑลได้
ที่นี่) ซึ่งสาเหตุจะเป็นด้วยสิ่งใดบ้างก็ตาม แต่เมื่อได้ระลึกถึงหน้าที่ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเทศาภิบาล เจ้าเมือง กรมการขึ้นมาก็ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงปกครองป้องกันเหตุร้าย รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้อยู่เย็นเป็นปกติสุข ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทั้งหลายซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ปกครองจะไม่พร้อมใจกันเข้าบุกบั่นปราบปรามโจรผู้ร้ายเสียให้สงบให้ราษฎรอุ่นใจแล้วค้นหาสาเหตุและที่มาแห่งเหตุซึ่งมีอยู่หลายอย่างรวมกันขึ้นพิจารณาแก้ไขเสียโดยเต็มกำลังเสียแต่บัดนี้ก็เท่ากับไม่ได้ปกครองหรือสิ้นความสามารถของผู้ปกครองในท้องที่นั้นๆ แล้ว และหากเป็นเช่นนั้นก็จะต้องให้คนอื่นเข้ามาจัดการแทนต่อไป จึงจะได้ชื่อว่าตั้งใจทำราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มกำลังความสามารถในหน้าที่ของตน

เพื่อให้กวดขันการปกครองอันเป็นส่วนสำคัญเหล่านี้ จึงได้วางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

๑. เมื่อเกิดคดีอุกฉกรรจ์ ปล้น ชิงทรัพย์ ฆ่ากันตายขึ้นในจังหวัดใดเมื่อใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดนั้นๆ ต้องออกไปหรือแยกกันไปสืบและไต่สวนในที่เกิดเหตุด้วยตนเองในทันที ถ้าไปไม่ได้ด้วยเหตุใด ให้รายงานชี้แจงส่งตามลำดับจนถึงกระทรวง

๒. ถ้าในคดีเรื่องใดยังไม่ได้ตัวหรือยังไม่ได้หลักฐานหรือของกลาง ก็ให้ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ทำการสืบสวนโดยเต็มกำลังและความสามารถ

๓. ถ้าผู้ร้ายหลบหนีไปที่ใด จังหวัดใดในมณฑลใดภายในพระราชอาณาจักรก็ให้แยกย้ายกันติดตามไปโดยแข็งแรงให้ถึงที่สุดเต็มความสามารถ เพื่อได้ตัวคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมาย ถ้าเป็นเรื่องสำคัญก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกติดตามไปด้วยตนเอง

๔. ถ้าเรื่องใดสิ้นความสามารถแน่แล้วก็ให้รายงานชี้แจงการที่ได้กระทำไปแล้วมาให้ทราบ

๕. ในเรื่องอั้งยี่สมาคมมั่วสุมประชุมกันที่ผิดกฎหมายอันเป็นเหตุร้าย ให้ทำการสืบสวนหาหลักฐานและจัดการโดยแข็งแรงเพื่อทำลายและฟ้องร้องหรือจัดการเนรเทศเสียให้จงได้

๖. ถ้าท้องที่ใดจังหวัดใดเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม ให้สมุหเทศาภิบาล ปลัดมณฑล ผู้บังคับตำรวจมณฑลแยกกันออกไปประจำจัดการอยู่ในท้องที่อำเภอนั้นๆ จนกว่าจะสงบเรียบร้อยแล้วจึงให้กลับ

๗. ให้เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ทุกชั้นจงเป็นที่เข้าใจให้แน่ชัดว่า การจับผู้ร้ายนั้นจะไม่ถือเป็นความชอบ เป็นแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่หน้าที่เท่านั้น แต่จะถือเป็นความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตและทรัพย์สมบัติของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้นอยู่เย็นเป็นปกติสุขพอสมควร เพราะไม่มีเหตุการณ์หรือมีแต่น้อยเป็นการจรแปลกมา

แลจะถือเป็นความผิด ความบกพร่องเมื่อการปกครองยุ่งยิ่งไม่เรียบร้อยเพราะปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่ราบคาบก็ตาม หรือเพราะแตกความสามัคคีในฝ่ายเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ไม่กลมเกลียวกันด้วยการแย่งยื้อถืออำนาจไม่เป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยอันเป็นต้นเหตุให้เกิดเสียหายแก่ราชการก็ตาม ให้ผู้บังคับบัญชาทุกชั้นจงถือเป็นข้อสำคัญที่จะระมัดระวังและจัดการตามอำนาจในทันที

แลด้วยเหตุนี้ให้ผู้บังคับบัญชาทุกชั้นงดการขอบำเหน็จความชอบในเรื่องเจ้าพนักงานจับผู้ร้ายได้ตั้งแต่บัดนี้ไป นอกจากจะขอให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรที่ช่วยเจ้าพนักงานหรือขอบำเหน็จบำนาญเป็นเงินซึ่งได้มีระเบียบอยู่แล้วหรือที่จะมีต่อไป เป็นแต่ให้รายงานการกระทำว่ามีผลเพียงไรเท่านั้น

แลให้เสนอความชอบความดีเฉพาะผู้ที่ได้ทำการปราบปรามแล้วและสามารถจัดการรักษาการปกครองท้องที่เรียบร้อยเป็นปกติดี เป็นที่นิยมชมชื่นของประชาชนผู้อยู่ในความคุ้มครอง

ทั้งนี้ ให้ถือเป็นระเบียบโดยเคร่งครัด

กระทรวงมหาดไทย

วันที่ ๒๖ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ประทับตราพระราชสีห์น้อยมาเป็นสำคัญ


ครับ นั่นก็คือประกาศกระทรวงมหาดไทยสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เมื่อเกือบๆ ร้อยปีมาแล้วที่เน้นและกำชับให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องออกสืบสวนติดตามคนร้ายในกรณีเกิดเหตุฉกรรจ์สะเทือนขวัญเป็นที่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อประชาชนทั่วไปด้วยตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อประชาชนจะได้เกิดความอุ่นใจหรือมั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้สมกับพระราชประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์ที่จะทรงปกครองป้องกันเหตุร้าย รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้อยู่เย็นเป็นปกติสุข

ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจเรานั้นได้ยึดถือและดำเนินการตามระเบียบนี้มาโดยตลอดและต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพี่น้องหลายท่านคงจะเคยได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยครั้งในกรณีเกิดเหตุร้ายหรือเหตุฉกรรจ์สะเทือนขวัญ เช่น ฆ่าคนตาย,ปล้นทรัพย์,ชิงทรัพย์ ฯ ที่นอกจากตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุจะต้องออกสืบสวนติดตามหรือดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้วผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ผู้บังคับการหรือสูงกว่าจะออกตรวจหรือติดตามเรื่องนั้นด้วยตนเองแทบจะทุกครั้ง การปฏิบัติหรือการดำเนินการของผู้บังคับบัญชาระดับสูงนั้นนอกจากจะเป็นไปตามระเบียบหรือคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดมาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วท่านยังจะได้นำประสบการณ์ ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาแนะนำชี้แจงแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ รวมไปถึงเป็นการระดมกำลังสมองของหลายๆ คนเข้าจัดการแก้ไขในเรื่องที่เกิดขึ้นให้สามารถรู้ตัวและจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งหากตำรวจเราสามารถจัดการได้เร็วเพียงใดประชาชนก็จะมีความอุ่นใจมากขึ้นเพียงนั้น

ในตอนท้ายผมใคร่ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องหนึ่งโดยนำมาจากประกาศฉบับนี้ครับ

พี่ๆ น้องๆ ตำรวจทุกคนคงได้เห็นและนำพระบรมราโชวาทของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ไปเป็นแนวทางหรือหลักปฏิบัติในหน้าที่การงานตั้งแต่วันแรกที่เริ่มรับราชการกันแล้วนั่นก็คือพระบรมราโชวาทที่มีใจความตอนหนึ่งว่า "...การจับผู้ร้ายนั้นจะไม่ถือเป็นความชอบ เป็นแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่หน้าที่เท่านั้น..." ใจความในพระบรมราโชวาทนี้เท่าที่ผมพบเห็นตามหน่วยงานตำรวจหลายแห่งจะไม่เหมือนกันเสียเลยทีเดียวถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นไปในแนวทางหรือรูปแบบเดียวกันก็ตาม อย่างเช่นหน่วยงานแห่งหนึ่งเขียนว่า "...การจับผู้ร้ายนั้นไม่ถือเป็นความชอบ..." แต่บางหน่วยงานเขียนว่า "...การจับผู้ร้ายนั้นจะไม่ถือเป็นความชอบ..." (มีและไม่มีคำว่า "จะ") บางหน่วยงานเขียนว่า "...ได้ปกครองป้องกันเหตุร้าย...." แต่บางหน่วยงานเขียนว่า "...ได้ปกครองคุ้มกันเหตุร้าย..." หรืออีกตอนหนึ่งบางหน่วยงานเขียนว่า "...ให้ชีวิตและทรัพย์สินของข้าแผ่นดิน..." แต่บางหน่วยงานเขียนว่า "...ให้ชีวิตและทรัพย์สมบัติของข้าแผ่นดิน..." เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าพระบรมราโชวาทนี้หน่วยงานตำรวจเขียนหรืออัญเชิญมาไม่เหมือนหรือตรงกันนัก แล้วข้อความที่ถูกต้องแท้จริงเป็นอย่างไรเพราะเราก็ยังไม่เคยเห็นที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อน (หรืออาจจะมีใครสักคนเคยพบเห็นส่วนนี้บ้าง หากมีผมใคร่ขอความกรุณานำมาเฉลยเผยแพร่ต่อๆ กันด้วยจะเป็นวิทยาทานอย่างสูง) ผมขออธิบายเพื่อทำความเข้าใจดังนี้

คนไทยเราทุกคนเคารพเทิดทูนสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เป็นอย่างสูงยิ่งมาตั้งแต่มีประเทศไทยจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทุกคนคงทราบกันแก่ใจดีแล้วว่าความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์คนไทยเราถือเป็น "ของสูง" และ "มีค่ายิ่ง" ที่จะเทิดทูนหวงแหนและน้อมนำมาใส่เกล้าฯ เป็นหลักการในการดำเนินชีวิตทั้งส่วนตัวและหน้าที่การงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พระราชดำรัส" "พระบรมราโชวาท" ทั้งหลาย การน้อมนำพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทที่พระราชทานนั้นหากเป็นในเรื่องของการกระทำคนไทยเราก็จะประพฤติหรือปฏิบัติตามที่พระองค์ให้ไว้ แต่หากเป็นการ "อัญเชิญ" พระบรมราโชวาทหรือพระราชดำรัสไปเผยแพร่บอกกล่าวไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ตามผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนจะต้องอัญเชิญข้อความที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่คำเดียวอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่บอกว่าสิ่งเหล่านี้คนไทยเราถือเป็น "ของสูง" และสำคัญยิ่งจะผิดพลาดตกหล่นจากการที่ได้เคยทรงมีพระบรมราโชวาทหรือพระราชดำรัสไว้แล้วไม่ได้ จะต้องเป็นไปตามนั้นทุกถ้อยทุกคำ ยิ่งหากเป็นการอัญเชิญไปเผยแพร่ที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือของส่วนราชการด้วยแล้วจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งยวด

เมื่อคนไทยทุกคนถือเรื่องเหล่านี้เป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันแล้ว ดังนั้น ข้อความที่ปรากฏในประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อ ๗ นั้นจึงถือว่าเป็นการอัญเชิญมาจากพระบรมราโชวาทของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่เคยพระราชทานไว้เมื่อครั้งก่อน (แต่จะเมื่อใดผมจะพยายามสืบค้นมาเฉลยให้ทราบกันอีกครั้ง) และพระบรมราโชวาทนั้นจะต้องเป็นดังนี้ (ขออนุญาตใช้การสะกดในสมัยนั้น)

...การจับผู้ร้ายนั้นจะไม่ถือเปนความชอบ เปนแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่น่าที่เท่านั้น แต่จะถือเปนความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตแลทรัพย์สมบัติของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้นอยู่เย็นเปนปรกติศุขพอสมควร...

สวัสดีครับผม

2 ความคิดเห็น:

  1. แล้ว ตกลงว่า ข้อความนี้เป็นพระบรมราโชวาท หรือไม่ ครับพี่

    ตอบลบ
  2. อ่านความเห็นของผมในย่อหน้าก่อนย่อหน้าสุดท้ายอีกครั้งนะครับ

    ตอบลบ