วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตำแหน่งของตำรวจ (๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา สวป.สภ.พาน เชียงราย รายงานตัวครับผม

วันนี้วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ใกล้สิ้นเดือนที่ ๖ ของปีแล้วเร็วจริงๆ วันเวลานี่ไม่คอยท่าใครซะด้วยเพราะฉะนั้นใครมีหน้าที่อะไรก็จงทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ

ก่อนหน้านี้ผมนำเรื่องราวของตำรวจมาเล่าให้ฟังแล้วหลายเรื่องซึ่งก็อย่างที่บอกแหละครับว่าหากมีเวลาว่างๆ จะนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าแจ้งแถลงไขหรือเล่าสู่กันฟัง แล้วก็ตอนนี้ว่างแล้วจึงขอนำเรื่องของตำรวจเราอีกซักเรื่องหนึ่งมาบอกกันครับ โดยเรื่องที่จะบอกกล่าวกันในวันนี้เป็นไปตามหัวเรื่องที่จั่วไว้ครับนั่นก็คือ ตำแหน่งของตำรวจ เป็นอย่างไรติดตามผมมาเลย แอ่นแอ๊น

ท่านที่รักครับ กฎหมายตำรวจที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มีผลบังคับใช้ตั้งวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ซึ่งกำหนดเรื่องราวต่างๆ ของตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่,การจัดระเบียบราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ,ยศ,ตำแหน่ง,เงินเดือน ฯลฯ ครอบคลุมทุกอย่างเลยก็ว่าได้ โดยเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจผมจะทยอยเล่าให้ฟังวันหลัง แต่วันนี้มาเข้าเรื่องที่บอกไว้ก่อนดีกว่าครับ

ปัจจุบันตำรวจเรากำหนดตำแหน่งไว้ ๑๓ ตำแหน่งเรียงลำดับจากใหญ่ไปหาเล็กดังนี้

. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
๒. จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
๓. ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
๔. ผู้บัญชาการ
๕. รองผู้บัญชาการ
๖. ผู้บังคับการ และพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ
๗. รองผู้บังคับการ และพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ
๘. ผู้กำกับการ และและพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ
๙. รองผู้กำกับการ และพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ
๑๐
. สารวัตร และพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ
๑๑. รองสารวัตร และพนักงานสอบสวน
๑๒. ผู้บังคับหมู่
๑๓. รองผู้บังคับหมู่

ทั้ง ๑๓ ตำแหน่งที่พูดถึงนั้นเป็นตำแหน่งหลัก แต่ยังมีตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นด้วยในบางหน่วยงาน ซึ่ง ก.ตร. หรือคำเต็มเรียกว่า
คณะกรรมการตำรวจ จะเป็นผู้กำหนดโดยเทียบกับตำแหน่งหลักที่พูดถึงนี้ว่าเป็นตำแหน่งใด เช่น พนักงานสอบสวน (สบ ๔) เทียบได้กับตำแหน่งผู้กำกับการ , ที่ปรึกษา (สบ ๑๐) เทียบได้กับตำแหน่งจเรตำรวจและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น รายละเอียดเรื่องนี้ท่านใดสนใจสามารถเปิดอ่านได้ที่นี่ครับ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00169404.PDF




ต่อไปผมขอแนะนำเรื่องยศของแต่ละตำแหน่งครับว่าตำแหน่งเหล่านี้มียศอะไรกันบ้าง เรื่องนี้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ กำหนดไว้ดังนี้

๑. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มียศเดียวครับคือพลตำรวจเอก
๒. จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยศพลตำรวจโทถึงพลตำรวจเอก
๓. ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยศพลตำรวจโท
๔. ผู้บัญชาการ ยศพลตำรวจตรีถึงพลตำรวจโท
๕. รองผู้บัญชาการ ยศพลตำรวจตรี
๖. ผู้บังคับการ และพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ยศพันตำรวจเอก(พิเศษ) ถึงพลตำรวจตรี (ผมขอทำความเข้าใจคำว่ายศ
พันตำรวจเอก(พิเศษ) อีกนิดหนึ่งนะครับ คืออันที่จริงยศ พันตำรวจเอก(พิเศษ) นี่ไม่มีหรอกแต่เป็นภาษาปากที่ใช้พูดกัน สำหรับยศจริงๆ ก็คือพันตำรวจเอกนั่นแหละแต่เป็นพันตำรวจเอกที่ได้รับอัตราเงินเดือนพันตำรวจเอก(พิเศษ) ครับผม)
๗. รองผู้บังคับการ และพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ ยศพันตำรวจเอก(พิเศษ)
๘. ผู้กำกับการ และและพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ยศพันตำรวจโทถึงพันตำรวจเอก
๙. รองผู้กำกับการ และพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ ยศพันตำรวจโท
๑๐
.
สารวัตร และพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ ยศร้อยตำรวจเอก,พันตำรวจตรี,พันตำรวจโท
๑๑. รองสารวัตร และพนักงานสอบสวน ยศร้อยตำรวจตรี,ร้อยตำรวจโท,ร้อยตำรวจเอก
๑๒. ผู้บังคับหมู่ ยศสิบตำรวจตรี,สิบตำรวจโท,สิบตำรวจเอก,จ่าสิบตำรวจ,ดาบตำรวจ
๑๓. รองผู้บังคับหมู่ ไม่มียศครับแต่ให้แต่งตั้งจากตำรวจชั้นพลตำรวจ


อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะงงๆ ว่า เอ้า หลายตำแหน่งมียศตั้งหลายยศแล้วจะรู้ได้ไงล่ะครับว่ายศนั้นเป็นตำแหน่งอะไรกันแน่ ผมจะเฉลยให้ฟังต่อ แต่จะพูดเฉพาะตำแหน่งที่มีหลายยศนะครับ เช่น จเรตำรวจแห่งชาติ,รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งมียศตั้งแต่พลตำรวจโทถึงพลตำรวจเอก คือเป็นแบบนี้ครับ ตำแหน่งที่ว่ามียศนั้นถึงยศนี้นี่น่ะเป็นเรื่องของการแต่งตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสูงน่ะครับว่าถ้าจากตำแหน่งนี้จะเลื่อนหรือรับตำแหน่งสูงขึ้นต้องมียศไม่น้อยกว่ายศไหน ถ้ายศไม่ถึงหรือน้อยกว่าก็แต่งตั้งไม่ได้ เช่น ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้นจะต้องมียศพลตำรวจโทเสียก่อน (นี่ยังไม่รวมถึงระยะเวลาในการครองตำแหน่ง,อัตราเงินเดือน ฯลฯ อีกจิปาถะนะครับ) ถึงจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ได้ ตำแหน่งอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ใดมีคุณสมบัติครบแล้วไม่ว่าจะเป็นยศ,เงินเดือน,ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา ฯลฯ รวมถึง....... (ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) และผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นก็จะแต่งตั้งครับ แล้วทีนี้วงการตำรวจเราน่ะในเวลาแต่งตั้งนั้นทั้งยศ,ตำแหน่ง,เงินเดือน,ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา ฯลฯ จะครบกันหมดแล้ว (บางคนเลยมาตั้งหลายปีด้วยซ้ำไป) เมื่อแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วสักพักหนึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะแต่งตั้งว่าที่ยศให้ในกรณีที่ผู้นั้นมียศต่ำกว่ายศสูงสุดของตำแหน่งนั้น เช่น พลตำรวจตรี ก.ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการก็จะได้รับว่าที่ยศเป็น พลตำรวจโท เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากว่ายศสูงสุดของตำแหน่งผู้บัญชาการคือ พลตำรวจโท นั่นเอง (ว่าที่ยศนั้นใช้กับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรซึ่งจะต้องรอรับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศก่อนจึงจะปลดคำว่า ว่าที่ ออกเหลือเพียงแต่ยศนั้นๆ ซึ่งผมจะพูดเรื่องว่าที่ยศให้ทราบในโอกาสต่อไป)



เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการเรื่องว่าที่ยศเสร็จแล้วเรามาดูกันต่อว่ายศที่ติดอยู่บนบ่านั้นจะเรียกตำแหน่งอย่างไร น่าสนใจนะครับจะได้เรียกได้ถูก (แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าการเรียกตำแหน่งของตำรวจเรานั้นมักจะเรียกคำที่เป็นตำแหน่งหลักมากกว่าไม่ว่าชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการของตำแหน่งที่เทียบเท่าจะเรียกอะไรก็ตาม) ซึ่งมีดังนี้ครับ

. ยศพลตำรวจเอก คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,จเรตำรวจแห่งชาติ,รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
๒. พลตำรวจโท คือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการ
๓. พลตำรวจตรี คือ รองผู้บัญชาการและผู้บังคับการ
๔. พันตำรวจเอก(พิเศษ) คือรองผู้บังคับการ
๕. พันตำรวจเอก คือ ผู้กำกับการ (ระหว่างพันตำรวจเอก(พิเศษ) และพันตำรวจเอกต่างกันและดูตรงไหนว่าใครเป็นใครผมเคยนำเสนเรื่องราวให้ทราบไว้แล้ว หากจำไม่ได้หรือยังไม่ได้อ่านกรุณาคลิกดูที่นี่ได้เลยครับท่่าน http://mrsp2503.blogspot.com/2010/06/blog-post_4814.html )
๖. พันตำรวจโท คือ รองผู้กำกับการและสารวัตร
๗. พันตำรวจตรี คือ สารวัตร
๘. ร้อยตำรวจเอก คือ สารวัตรและรองสารวัตร
๙. ร้อยตำรวจโทและร้อยตำรวจตรีคือ รองสารวัตร
๑๐. ดาบตำรวจ,จ่าสิบตำรวจ ท่านสามารถเรียกยศได้เลยครับ เช่น ดาบตำรวจ (หรือดาบ) นั้นดาบนี้ , จ่าสิบตำรวจ (หรือจ่า) นั้นจ่านี้ สำหรับสิบตำรวจเอก,สิบตำรวจโท,สิบตำรวจตรีนั้นสมัยก่อนเขามักจะเรียกกันว่า
หมู่ ซึ่งมาจากคำว่า ผู้บังคับหมู่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยใช้คำนี้กันแล้ว ในวงการผมจะเรียกผู้มียศนี้โดยใช้ชื่อของคนนั้นแทนไปเลย



มีปัญหาอีกแหละครับว่าบางตำแหน่งมีตั้งหลายยศ แล้วเมื่อเห็นยศเหล่านั้นจะเรียกว่ายังไงดี ยากเหมือนกันนะ (แหม ขนาดตำรวจอย่างพวกผมก็ยังงงๆ เลย เพราะกำลังพลของเราเยอะมากแล้วก็ไม่ได้รู้จักกันทั้งหมด) เอาแบบนี้ก็แล้วกันคือให้ดูที่ยศเป็นหลักแล้วเรียกตามที่ผมบอกนั่นแหละผิดถูกไม่เป็นไร ไม่มีใครถือสาหรอกครับ บางคนกลับชอบซะอีกเช่นตัวเองตำแหน่งสารวัตรยศพันตำรวจโทซึ่งยศนี้มีถึง ๒ ตำแหน่งคือรองผู้กำกับการและสารวัตรแต่พี่น้องเรียกผิดเป็น รองผู้กำกับการ อย่างผมเป็นต้น เล่นเอาหน้าบานไปหลายวันเลยเชียว แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเรียกยังไงจริงๆ ผมแนะนำนะครับเรียก พี่ หรือ ลุง ไปเลยก็ได้ (ฮา)

ปิดท้ายครับ ที่บอกไปนั้นเป็นการเรียกชื่อตำแหน่งของตำรวจซึ่งเป็นคำพูดแบบเป็นทางการซึ่งบางคนไม่ถนัดและชอบเรียกคำที่เป็นคำปากมากกว่า ผมจึงขอแนะนำการเรียกชื่อตำแหน่งที่มักนิยมเรียกกันดังต่อไปนี้
๑. ผู้บังคับการ เรียก ผู้การ
๒. รองผู้บังคับการ เรียก รองผู้การ
๓. ผู้กำกับการ เรียก ผู้กำกับ
๔. รองผู้กำกับการ เรียก รองผู้กำกับ
ส่วนนอกเหนือจากนี้มักจะเรียกตามชื่อตำแหน่งที่เป็นทางการยกเว้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมักจะเรียกว่า ผบ.ตร. (ผอ บอ ตอ รอ) , รอง ผบ.ตร. และ ผู้ช่วย ผบ.ตร.

วันนี้เขียนมาค่อนข้างยืดยาวแต่ก็ยังไม่หมดอยู่ดียังมีอีกหลายตอนซึ่งผมจะทยอยนำมาเล่าให้ฟังต่อไปนะครับ


รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรีัยกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น