วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กรมตำรวจภูบาล (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

สวัสดีทุกท่าน พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา รายงานตัวครับผม

วันนี้วันอาทิตย์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีขาล จุลศักราช ๑๓๗๒ ตรงกับวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปีที่หลายที่หลายแห่งฝนตกลงมาค่อนข้างหนักตั้งแต่คืนที่ผ่านมาจนถึงเพลานี้ (ช่วงที่ผมเขียนต้นฉบับซึ่งเพลาเลยเที่ยงวันไปราวๆ ๓ ชั่วโมงหย่อน) ก็ยังคงตกอยู่ วสันตฤดูเข้ามาเยือนจริงๆ แล้วกระมัง นี่ถ้าฝนตกมาแบบนี้ไปอีกสักช่วงเพลา พี่น้องชาวนาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติเราแต่กาลก่อนเก่าคงจะยิ้มสดชื่นกันได้บ้าง ขอเป็นกำลังใจช่วยนะขอรับ

ในวันหยุดผมจะสรรหาเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำรวจมาบอกมากล่าวหรือบันทึกไว้ในบล็อกนี้เพื่อให้ข้อมูลมีความเคลื่อนไหวตลอด วันนี้ก็เฉกเช่นกันโดยเรื่องที่จะนำมาเล่าให้ฟังนั้นขอเป็นเรื่องราวในอดีตซะหน่อยที่หลายท่านอาจจะไม่เคยพบปะเจอะเจอที่ไหนมาก่อนนั่นก็คือตามหัวข้อ "กรมตำรวจภูบาล" น่าสนใจนะครับ ใครอยากรู้ตามผมมา

เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๘ หลังปีขาลผมเคยนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของตำรวจเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรให้ทราบกันแล้ว (ใครที่ยังไม่ได้อ่านหรือต้องการทราบกรุณาคลิกที่ Link ที่ผมทำไว้นะครับ) ซึ่งจากประวัติความเป็นมาเราจะเห็นว่ากาลแต่เก่าก่อนนั้นตำรวจเราสังกัดอยู่หลายที่หลายแห่งกระจัดกระจายไม่ได้รวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกันเฉกเช่นปัจจุบันซึ่งนั่นก็เป็นไปตามยุคตามสมัยจวบจนกระทั่งวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมตำรวจพลตระเวนและกรมตำรวจภูธรเข้าเป็นกรมเดียวกันเรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” โดยมีอธิบดีบังคับบัญชางานทั้งสองฝ่ายแต่ผู้เดียวและให้อธิบดีกรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวนนั้นขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล ซึ่งในประกาศฉบับนี้มีข้อความที่น่าสนใจตอนหนึ่ง (ผมขอใช้ถ้อยคำและการสะกดตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาครับ) ว่า

"มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ด้วยเดิมทีแรกตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๓ นั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีน่าที่ทำการเปนพลตระเวนในหัวเมืองดังมีแจ้งอยู่ในท้องตราพระราชสีห์ใหญ่ ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๙ นั้นแล้ว การต่อมาภายหลังจึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ตำรวจภูธรมีฐานะในการฟ้องร้องลงโทษอย่างกรมทหารบก แต่ยังคงมีน่าที่ทำการเหมือนอย่างพลตระเวนอย่างเดิม ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ธรรมเนียมราชการซึ่งปรากฏมาในรัชกาลที่ ๑ ก็ย่อมมีอยู่ว่า ข้าราชการในหัวเมืองสมควรจะรับตราตั้งแลขึ้นอยู่ในเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ ด้วย แลธรรมเนียมนี้ก็ถูกต้องกับแบบอย่างธรรมเนียมราชการซึ่งจัดรวมเข้าเปนกองกลางในประเทศทั้งหลายในประจุบันนี้เปนอันมากแล้ว ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า สมควรจะจัดการแก้ไขธรรมเนียมนั้นให้ดียิ่งขึ้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเปนพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้

ข้อ ๑ ตั้งแต่นี้สืบไป ให้รวมกรมพลตระเวนแลกรมตำรวจภูธรเปนกรมเดียวกัน มีอธิบดีบังคับบัญชาการงานทั้งสองฝ่ายแต่ผู้เดียว อธิบดีกรมตำรวจภูธรแลกรมพลตระเวนให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล...

นั่นก็คือประวัติความเป็นไปเป็นมาของตำรวจเราช่วงหนึ่งเมื่ออดีตกาลที่ผ่านมาซึ่งหลังจากมีประกาศรวมกรมพลตระเวนแลกรมตำรวจภูธรเป็นกรมเดียวกันแล้วผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจเราก็จะเรียกชื่อว่าอธิบดีกรมตำรวจภูธรแลกรมพลตระเวน การเรียกนี้ใช้อยู่ช่วงหนึ่งก็เปลี่ยนมาเป็นคำว่า "อธิบดีกรมตำรวจ" เรื่อยมาจนถึง "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ในปัจจุบัน สำหรับการเปลี่ยนชื่อจาก "อธิบดีกรมตำรวจภูธรแลกรมพลตระเวน" มาเป็น "อธิบดีกรมตำรวจ" จะเริ่มมาตั้งแต่เมื่อใดนั้นผมขออนุญาตยกยอดไปเขียนครั้งหน้านะครับส่วนครั้งนี้ขอเขียนเรื่อง "กรมตำรวจภูบาล" มาเล่าแจ้งแถลงไขให้ทราบกันก่อน

งงไหมครับท่าน "กรมตำรวจภูบาล" เนี่ย เคยได้ยินกันบ้างไหมเอ่ย ผมเองก็ไม่เคยได้ยิน(ชนิดเป็นงานเป็นการ)เหมือนกัน จะเคยก็เฉพาะช่วงที่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ ๔ ใกล้ๆ จบนั่นแหละ เพื่อนๆ บางคนที่เรียนค่อนข้างดีแต่ไม่ถึงกับดีมากจะใช้คำคำนี้กัน เรื่องของเรื่องก็คือว่าหลังสอบปี ๔ เสร็จแล้วน่ะจะมีการเลือกตำแหน่งเพื่อบรรจุไปรับราชการที่กรมตำรวจ(สมัยนั้น) กำหนดมาให้เท่ากับนักเรียนที่จบ ใครสอบได้ดีกว่าก็จะได้เลือกก่อน (รุ่นผมจบพร้อมกัน ๒๘๕ คน) คนสอบได้ที่ ๑ นี่จะเลือกลงที่ไหนก็ได้ (เพื่อนที่ได้ที่ ๑ ชื่อ นรต.สมชาย อินโต ปัจจุบันคือ พ.ต.อ.สมชาย พัชรอินโต รอง ผบก.น.5 ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกว่าจะเลือก สน.บางรัก) ถัดมาก็ที่ ๒,๓...ไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่สอบได้ที่ท้ายๆ น่ะเพื่อนเขาเลือกให้ทั้งนั้น ยิ่งคนได้ที่โหล่นี่หมดสิทธิ์เพื่อนเลือกให้แน่นอน แล้วคนได้ที่โหล่ของรุ่นผมเป็นใคร แหม ไม่บอกดีกว่า บอกได้แต่เพียงว่าเพื่อนคนนี้เป็นนายพลคนแรกของรุ่นครับ เอ้า แล้วไม่เห็นเกี่ยวกับคำว่า "ภูบาล" ที่ผมบอกเมื่อกี๊นี้เลย เกี่ยวครับ คืองี้ เพื่อนๆ ที่ได้ที่ดีๆ ส่วนใหญ่จะเลือกลงนครบาลกัน ที่เหลือจะเป็นภูธรซะมากกว่ารวมถึงผมด้วย (ผมสอบได้ที่ ๙๑ เลือกลง สภ.อ.เมืองลำปาง) เพื่อนๆ ที่อยากลงนครบาลแต่ตำแหน่งที่มีให้คนอื่นเลือกลงก่อนหน้าหมดแล้ว ใจอยากจะลงนครบาลแต่ไม่มีสิทธิ์ก็เลยเลือกลงภูธรพื้นที่ที่ติดๆ กับนครบาลนั่นแหละ เพื่อนๆ พวกนี้เลยขอใช้คำว่าเป็นตำรวจ"ภูบาล" ซะเลย ซึ่งมาจากคำว่า "ภูธร" + "นครบาล" นั่นเอง

เอาล่ะ เข้าเรื่องกันซะทีเดี๋ยวจะออกอ่าวออกทะเลไปกันใหญ่มาคุยกันต่อถึงกรมตำรวจภูบาล กิจการตำรวจสมัยก่อนอย่างที่ผมเคยนำมาเล่าให้ฟังหรือจะสมัยไหนก็ตามแทบไม่เคยได้ยินชื่อชื่อนี้เลยแล้วทำไมผมถึงจั่วหัวว่าอย่างงั้นหรือผมเคยได้ยิน ตอนแรกไม่เคยครับ แต่หาไปหามา ค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ ไปมา เจอครับ เจอคำคำนี้พอดี ทีนี้การเจอเจอที่ไหน แล้วหลักฐานที่จะนำมาแสดงล่ะมีไหม ถ้ามีจะเชื่อแต่ถ้าไม่มีก็ไม่เชื่อ ผมก็คิดแบบนี้ ยุคนี้ต้องมีหลักฐานมาแสดงให้เห็นกันจะๆ มีครับ หลักฐานที่ผมจะนำมาแสดงต้องเป็นหลักฐานทางราชการที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การหาข้อมูลเรื่องนี้ก็เหมือนเดิมครับ "ราชกิจจานุเบกษา" ผมหาจากที่นี่แหละ เอ้า ตามมาเลยว่าเป็นอย่างไร

เรื่อง "ตำรวจภูบาล" นี่มีบันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓๐ น่า (ใช้คำในยุคนั้นนะครับ) ๑๔๕๒-๑๔๕๓ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอำมาตย์เอก พระยาวิเศษฤาไชย เป็นเจ้ากรมกรมตำรวจภูบาลรับสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่วันที่ ๑๓ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นไป ซึ่งจากหลักฐานนี้ย่อมถือได้ว่าอำมาตย์เอก พระยาวิเศษฤาไชย เป็นเจ้ากรมกรมตำรวจภูบาลคนแรกของไทยเรา

สำหรับเนื้อความในราชกิจจาฯ นี้มีดังนี้

ประกาศตั้งอธิบดีกรมตำรวจภูธร

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า นายพลตรีพระยาวาสุเทพ เจ้ากรมตำรวจภูธร ได้รับราชการมาเรียบร้อยราชการดี อนึ่ง กรมตำรวจภูธรก็เปนกรมใหญ่อยู่ในกระทรวงมหาดไทยกรมหนึ่ง สมควรจะมีอธิบดีเปนหัวน่าได้ จึ่งทรงพระกรุึณาโปรดเกล่้าฯ ให้นายพลตรี พระยาวาสุเทพเลื่อนขึ้นเปนอธิบดีกรมตำรวจภูธร
อนึ่ง ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า การไต่สวนโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองมีการมากขึ้น สมควรจะรวบรวมเจ้าพนักงานแลราชการน่าที่นั้นในกระทรวงมหาดไทยขึ้นเปนกรมหนึ่งได้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเจ้าพนักงานแลน่าที่การไต่สวนโจรผู้ร้ายขึ้นเปนกรมตำรวจภูบาลกรมหนึ่งเปนกรมขึ้นอยู่ในกรมตำรวจภูธร แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อำมาตย์เอก พระยาวิเศษฤาไชย เปนเจ้ากรมๆ ตำรวจภูบาลรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป

ประกาศแต่ ณ วันที่ ๑๓ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ (ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

นั่นก็คือที่มาของ "กรมตำรวจภูบาล" ที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง แต่กรมตำรวจภูบาลนี้มีไปจนถึงเมื่อใดล่ะ นั่นซิ่ น่าสนใจ(อีกแล้ว) เมื่อท่านสนใจผมก็จะค้นคว้าหามาให้ทราบกัน การค้นก็ค้นในราชกิจจานุเบกษาอีกนั่นแหละ กรมตำรวจภูบาลนี้มีอยู่ได้ไม่นานก็ยกเลิกครับโดยยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๕๘ ซึ่งเป็นวันวันเดียวกันกับวัน
รวมกรมตำรวจพลตระเวนและกรมตำรวจเข้าเป็นกรมเดียวกันเรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน”นั่นเอง ประกาศฉบับนี้ในเรื่องกรมตำรวจภูบาลมีใจความว่า

"ข้อ ๓ ให้ยกเลิกกรมตำรวจภูบาลซึ่งได้ให้ตั้งขึ้นตามความตอนปลายในประกาศตั้งอธิบดีกรมตำรวจภูธร ลงวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งมีอยู่ในราชกิจจานุเบกษา เล่้ม ๓๐ น่า ๑๔๕๒ ลงวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๖"

แล้ว "กรมตำรวจภูบาล" ก็ถูกยกเลิกตามประกาศฯ ฉบับนี้แต่ต่อมาก็มีการตั้งกรมตำรวจภูบาลนี้อีกครับโดยเป็นไปตามประกาศตั้งกรมตำรวจภูบาลในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๔๗ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๔๗๓ สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ซึ่งมีใจความว่า

"มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเ้ด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า โดยที่มีพระราชประสงค์ที่จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งรอบรู้ในวิชชาการบางอย่างเป็นพิเศษขึ้นไว้ เพื่อประโยชน์แก่การสืบสวนสวนและปราบปรามผู้กระทำผิด

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมขึ้นกรมหนึ่งในกรมตำรวจภูธรชื่อ "กรมตำรวจภูบาล" มีเจ้ากรมเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ และให้เจ้ากรมมีตำแหน่งเป็นผู้่ช่วยอธิบดีกรมตำรวจภูธรด้วย ในการปฏิบัติราชการให้เจ้าหน้าที่ในกรมนี้มีอำนาจตามกฎหมายเสมือนตำรวจภูธรและตำรวจนครบาลตามลำดับชั้นยศหรือตำแหน่งที่เทียบเสมอกัน และให้เจ้ากรมมีอำนาจออกหมายจับ หมายค้นบ้านเรือน หมายเรียกพะยานได้ตามกฎหมายทั้งในและนอกเขตต์กรุงเทพมหานคร

ประกาศมา ณ วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๓ เป็นที่ ๖ ในรัชชกุลปัจจุบัน"

แล้วใครเป็นเจ้ากรมตำรวจภูบาลตามประกาศนี้ครับ เรื่องนี้ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเ่ล่มที่ ๔๗ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๗๓ ดังนี้

"ด้วยทรงพระกรุึณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพันเอก หม่อมเจ้าวงศ์ริรชร เทวกุล เป็นเจ้ากรมตำรวจภูบาล รับราชการสนองพระเดชพระคุณ ตั้งแต่้วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๔ เป็นต้นไป"

นี่ก็คือที่มาในการตั้ง "กรมตำรวจภูบาล" ขึ้นใหม่อีกครั้งภายหลังยกเลิกไปได้ระยะหนึ่งและกรมตำรวจภูบาลนี้ก็อยู่คู่เมืองไทยมาอีกสักระยะจนกระทั่้งหายไปเหลือเพียง "กรมตำรวจ" หรือ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ในปัจจุบัน แต่หลักฐานในการประกาศยกเลิก "กรมตำรวจภูบาล" นั้นเท่าที่ตรวจสอบจากราชกิจจานุเบกษาไม่มีโดยตรงแต่จะอนุมานได้ว่าน่าจะยกเลิกตามประกาศจัดตั้งโครงการณ์กรมตำรวจซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๔๙ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ซึ่งให้เปลี่ยนชื่อ "กรมตำรวจภูธร" เป็น "กรมตำรวจ" และให้กรมตำรวจแบ่งกิจการออกเป็น ๔ ส่วนคือ
ส่วนที่ ๑ กองบังคับการ
ส่วนที่ ๒ ตำบลนครบาล
ส่วนที่ ๓ ตำบลภูธร
ส่วนที่ ๔ ตำรวจสันติบาล
ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีคำว่า "ตำรวจภูบาล" อีกแล้ว

ฉะนั้น จึงถือว่า "กรมตำรวจภูบาล" นั้นหมดไปจากกรมตำรวจตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

ครับ นี่ก็คือความรู้และเรื่องราวของตำรวจในเรื่อง "กรมตำรวจภูบาล" ที่ผมนำมาเสนอให้ทราบกันในวันหยุดนี้ซึ่งคิดว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านทั้งหลายอยู่บ้างตามสมควร

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 พฤษภาคม 2554 เวลา 20:43

    กำลังค้นเรื่องตำรวจภูบาลอยู่พอดี ขอบคุณมากครับ

    ธวัชชัย

    ตอบลบ