วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

แนวคิด อุดมการณ์ และหลักการทำงานของน้องๆ ตำรวจฝึกงานเมื่อจบออกไปรับราชการ (๒๖ กันยายน ๒๕๕๓)

สวัสดีครับ

วันนี้วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๓ วันหยุดสำหรับพี่น้องหลายๆ คนซึ่ง ๑ ในนั้นก็รวมทั้งผมด้วย อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นเดือนนี้แล้วแล้วก็เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณที่พี่ๆ ตำรวจหรือข้าราชกากรหน่วยอื่นที่มีอายุครบ ๖๐ ปีจะเกษียณอายุราชการซึ่งที่ สภ.พานของเรามีอยู่ด้วยกัน ๔ คน ส่วนจะเป็นใครกันบ้างนั้นกรุณาคลิืก link นะครับ




เรื่องที่ผมจะนำมาบอกกล่าวกันในวันหยุดนี้ขอเป็นเรื่องของน้องๆ ตำรวจที่มาฝึกหัดปฏิบัติราชการที่ สภ.พานขณะนี้ซึ่งมี ๔ คนด้วยกันประกอบด้วย (ภาพจากซ้ายไปขวา)

๑. ส.ต.ต.ศุภวัฒน์ สุวรรณโณ
๒. ส.ต.ต.เทอดศักดิ์ ใจเที่ยง
๓. ส.ต.ต.พีระพงษ์ อุปจักร์
๔. ส.ต.ต.ปรีชาชัย ธรรมอนุสรณ์

น้องๆ ทั้ง ๔ คนนี้มาฝึกหัดปฏิบัติราชการที่ สภ.พานตั้่งแต่วันที่ ๒๐-๒๙ กันยายนนี้โดยฝึกงานในด้านการจราจร,งานสืบสวน และงานป้องกันกันปราบปราม ซึ่งในส่วนของงานป้องกันปราบปรามนั้นผู้บังคับบัญชากรุณามอบหมายหน้าที่นี้ให้ผม

การฝึกก็ให้เขารู้เรื่องราวต่างๆ ที่เขาจะต้องออกไปทำงานจริงอย่างละนิดละหน่อยนั่นแหละเท่าที่เวลาที่ฝึกซึ่งน้องๆ ก็ตั้งใจกันเป็นอย่างดี สำหรับการฝึกด้านงานป้องกันปราบปรามนั้นที่ผ่านมาผมฝึกให้น้องๆ เขาดังนี้ครับ

การรับฟังการประชุมชี้แจงภารกิจก่อนออกปฏิบัติหน้าที่จากผู้บังคับบัญชา



การพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน



การตั้งจุดตรวจ



สายตรวจเดินเท้า



งานสายตรวจตำบลหรือตู้ยาม



สำหรับงานที่เหลือคืองานสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ผมจะฝึกให้ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๙ กันยายนครับ

การฝึกของผมนั้นนอกจะอธิบายรายละเอียด,หลักการ,วิธีการปฏิบัติให้น้ิองๆ เขาเข้าใจแล้วผมยังได้จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ใช้ศึกษารวมถึงเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบการปฏิบัติหลังจากฝึกงานเสร็จอีกด้วย และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการบันทึกแนวคิด อุดมการณ์ และหลักการทำงานเมื่อจบออกไปรับราชการของแต่ละคนว่าหลังจากฝึกงานเสร็จแล้วตนเองมีอย่างไรซึ่งผมจะทำเช่นนี้ทุกครั้งที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ผมเป็นผู้ฝึกและรุ่นนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่จะให้เขาบันทึกในวันสุดท้ายซึ่งเมื่อถึงวันนั้นผมจะนำเรื่องราว แนวคิด อุดมการของแต่ละคนมาบอกกล่าวกันในบล็อกของผมนี้อีกครั้งหนึ่ง

พูดถึงเรื่องแนวคิด อุดมการณ์ และหลักการทำงานเมื่อจบออกไปรับราชการของแต่ละคนที่มาฝึกงานกับผมแล้ว ผมขอนำเรื่องนี้ซึ่งผมเคยฝึกงานให้กับน้องๆ ตำรวจที่มาฝึกงานที่ สภ.พานเมื่อวันที่ ๗-๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ มาบอกกล่าวกันไว้หน่อยเผื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบกับน้องๆ ฝึกงานรุ่นนี้ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง


แต่ก่อนอื่นขออนุญาตแจ้งรายชื่อน้องๆ ตำรวจที่มาฝึกงานครั้งนั้นให้ทราบก่อนนะครับ น้องๆ รุ่นที่แล้วมาฝึกงานที่ สภ.พาน ๖ คน ประกอบด้วย (ภาพจากซ้ายไปขวา)
๑. ส.ต.ต.รุ่งโรจน์ พรหมเผ่า
๒. ส.ต.ต.วุฒิกร กุนมล
๓. ส.ต.ต.เกรียงไกร ไชยลิ้นฟ้า
๔. ส.ต.ต.สุนธี อุดมรักษ์
๕. ส.ต.ต.พีรพัฒน์ ฟุ้งเจริญศักดิ์
๖. ส.ต.ต.ศักดิ์ระพี เอมพรหม



สำหรับแนวคิด อุดมการณ์ และหลักการทำงานเมื่อจบออกไปรับราชการของน้องๆ ทั้ง ๖ คนรุ่นที่แล้วมีดังนี้ครับ

ส.ต.ต.รุ่งโรจน์ พรหมเผ่า
"มุ่งมั่นพัฒนา ยกระดับ ปรับเปลี่ยนทัศนคติประชาชน"
"มุ่งมั่นพัฒนา" คือ การที่ข้าพเจ้าจะพัฒนา สภ.ของข้าพเจ้าให้เป็น สภ.ที่มีความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาในเรื่องการบริการให้ประชาชนประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ One stop service หรือในเรื่องคดีความต่างๆ
"ยกระดับ" คือการยกระดับในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เกิดความเข้าใจตรงกันและความร่วมมือ ยกระดับในเรื่องของการลดคดีและอาชญากรรมจนถึงขั้นบูรณาการ จัดการให้ประชาชนมีความร่วมมือด้วยความจริงใจ
"ปรับเปลี่ยนทัศนคติประชาชน" คือปรับเปลี่ยนอคติที่ไม่ดีของประชาชนที่มีต่อตำรวจในแง่ลบต่างๆ โดยการใช้หลักการมวลชนสัมพันธ์สร้างแนวร่วมและเครือข่ายให้ประชาชนประทับใจ และรู้สึกเหมือนว่าตำรวจคือญาติ เมื่อมีเรื่องหรือมีปัญหาประชาชนจะได้รู้สึกว่าตำรวจคือญาติมิตรสนิทใจ


ส.ต.ต.วุฒิกรณ์ กุนมล
แนวคิด อุดมการณ์ และหลักการในการทำงานเมื่อออกไปรับราชการตำรวจของผมนั้เนคือเมื่อได้ออกไปปฏิบัติราชการแล้วผมจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ คอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนอย่างเช่นอุดคติของตำรวจที่ว่า "มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน" คือถ้าได้ทำหน้าที่ของสายตรวจก็ออกตรวจตราตามที่ได้รับมอบหมาย หรือตามที่ใดที่คิดว่าจะมีอาชญากรรมเกิดขึ้น หรือในท้องที่ที่มีย่านชุมชนอยู่มาก
ถ้าหากปฏิบัติหน้าที่จราจรก็จะควบคุมการจราจรให้สะดวกให้ประชาชนทุกท่านพอใจ หากได้ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนก็จะทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจในการหาข่าว ในการจับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อให้อาชญากรรมลดลงให้มากที่สุด
สุดท้ายคือผมจะเป็นตำรวจที่ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ



ส.ต.ต.เกรียงไกร ไชยลิ้นฟ้า
"ประชาชน" คำนี้ต้องมาก่อนเสมอในสถานการณ์ปัจจุบัน "ตำรวจอยู่ไหนประชาอุ่นใจทั่วกัน" ตำรวจทุกนายต้องทำให้ได้ เมื่อประชาชนเห็นตำรวจต้องทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ ไม่ใช่ "มาหาอะไรกินอีกแล้วพวกนี้ วันๆ ไม่ทำอะไร หากินกับประชาชนอย่างเดียว โจรผู้ร้ายไม่รู้จักไปจับ" เราต้องลบความคิดที่ไม่ดีเกี่ยวกับตำรวจออกจากสมองของประชาชนให้ได้ จะทำได้อย่างไรนั้นอยู่ที่การปฏิบัติตัวของตำรวจทุกนายตั้งแต่ชั้นประทวนไปจนถึงชั้นผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาต้องให้ความช่วยเหลือและความยุติธรรมแก่ลูกน้องเสมอในทางที่ถูกต้อง ทำไม่ดีก็อย่าให้ท้าย คำว่า "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" ประโยคนี้เป็นประโยคยอดนิยมในวงการตำรวจไทย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นไม่สามารถที่จะปฏิบัติอย่างนี้ได้ทุกสถานการณ์ ในส่วนที่ผู้บังคับบัญชาหรือลูกน้องกระทำผิดก็อย่าให้ท้ายมากเกินไป ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก แต่ถ้าเป็นความผิดเล็กน้อยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือประชาชนมากนักก็ช่วยเหลือกันไป เป็นผู้บังคับบัญชาไม่ควรเห็นแก่เงินมาก สถาบันตำรวจของเรา ณ ปัจจุบันมีเงินเป็นนาย มีเงินเป็นใหญ่ ใครมีเงินก็มีพวกมาก คนช่วยเหลือมาก จึงได้แต่พวกนายทุนเข้าไปบริหารในสำนักงานตำรวจ ตำรวจที่ดีไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปบริหาร เพราะไม่มีเงินจ่ายเมื่อเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งจึงเป็นได้แต่ตำรวจชั้นผู้น้อย เราควรเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถเข้าไปบริหารในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากๆ วงการตำรวจเราะได้พัฒนาไปมากกว่านี้


ส.ต.ต.สุนธี อุดมรักษ์
โดยแนวคิดทื่ผมจะอกไปในการปฏิบัติราชการตำรวจนั้นแบ่งเป็นด้านๆ ดังนี้
๑. การดำรงชีพในการเป็นข้าราชการ ผมจะนำแนวความคิดของ ร.๙ คือเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อให้ชีวิตอยู่อย่างมั่นคง เพราะข้าราชการตำรวจมีเงินน้อย ถ้าไม่นำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวคิดแนวปฏิบัติแล้วผมว่าชีวิตคงมีความสุขน้อยลง
๒. ในด้านการปฏิบัติหน้าที่ ผมขอนำอุดคติตำรวจทั้ง ๙ ข้อมาปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีหัวข้อดังต่อไปนี้
๑) เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
๒) กรุณาปรานีต่อประชาชน
๓) อดทนต่อความเจ็บใจ
๔) ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
๕) ไม่มักมากในลาภผล
๖) มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
๗) ดำรงตนในยุติธรรม
๘) กระทำการด้วยปัญญา
๙) รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต
๓. ในด้านครอบครัว ผมขอนำเอาคติธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางหรือหลักการคือฆราวาสธรรมซึ่งได้แก่
๑) ทาน
๒) ปิยวาจา
๓) สมานัตตา
๔) อัตถจริยา
ที่กล่าวมาผมถือว่าเป็นปัจจัยแนวคิดหรือปัจจัยในการทำงานที่สำคัญทื่สุดของการเป็นข้าราชการตำรวจเมื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่


ส.ต.ต.พีรพัฒน์ ฟุ้งเจริญศักดิ์
หลักการทำงานเมื่อต้องออกไปรับราชการตำรวจตามสถานีตำรวจต้นสังกัด เนื่องจากงานในหน้าที่ตำรวจเป็นงานที่ต้องใช้ความสามารถหลากหลายสาขา และประกอบกับความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งเร้าต่างๆ ทั้งจากประชาชนและผู้บังคับบัญชา ข้าพเจ้าคิดว่าแนวคิดและอุดมการณ์ที่จะนำไปเป็นหลักในการปฏิบัติราชการก็คืออุดมคติตำรวจทั้ง ๙ ประการ เนื่องด้วยสามารถนำไปปรับใช้ได้กับอาชีพข้าราชการตำรวจทุกข้อ แต่ข้าพเจ้าจะเน้นย้ำที่สุด ๒ ข้อคือ "อดทนต่อความเจ็บใจ" และ "รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต" เพราะคิดว่าเป็นข้อที่มีความสำคัญมากต่ออาชีพข้าราชการตำรวจ
อดทนต่อความเจ็บใจ หากว่าในขณะปฏิบัติหน้าที่ถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิติเตียนก็ต้องทนและหรือประชาชนด่าว่าก็ต้องทนเอา
รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต ในการทำงานบางครั้งเราก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุร้ายไม่คาดฝัน เช่นตำรวจถูกวัยรุ่นแยงปืนแล้วยิงตำรวจตายก็เกิดจากการที่ตำรวจประมาท


ส.ต.ต.ศักดิ์ระพี เอมพรหม
หลักการทำงานของข้าพเจ้าเมื่อได้ออกไปปฏิบัติงานในสถานีตำรวจคือการทำงานในด้านที่รับผิดชอบหรือได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านงานสายตรวจ จราจร หรือด้านสืบสวน พร้อมทั้งให้การเคารพแก่ตำรวจที่มีอาวุโสกว่า เชื่อฟังคำสั่งในการปฏิบัติ เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องในการทำงาน และเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดด้วยเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้นไป และยึดมั่นในอุดมคติของตำรวจทั้ง ๙ข้อเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่จริง โดยเฉพาะข้อสุดท้ายคือการรักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิตคือสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในสายงานป้องกันปราบปรามนั้นจะต้องมีการเผชิญเหตุอยู่เสมอ และต้องพบปะเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงอยู่เสมอ จึงต้องยึดหลักในข้อนี้ให้มั่น และนำอุดมคติของตำรวจมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ
การเคารพเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาก็เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติตัวในโรงพัก และการวางตัวที่ดีก็ถือเป็นการปฏิบัติในหน้าที่ที่ถูกต้อง หากมีการวางตัวไม่ดีทั้งในและนอกที่ทำงานก็อาจทำให้ประชาชนที่หวังจะให้เราเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เสื่อมศรัทธา และมองตำรวจในแง่ที่ไม่ดี ดังนั้นการวางตัวก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้บุคคลในอาชีพตำรวจมีความก้าวหน้าในชีวิตได้

ครับ นั่นก็คือแนวคิด อุดมการณ์ และหลักการทำงานเมื่อจบออกไปรับราชการของน้องๆ ตำรวจฝึกงานทั้ง ๖ คนที่เคยมาฝึกงานกับผมที่ สภ.พานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อนึ่ง ข้าราชการตำรวจทั้ง ๖ นายได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังนี้

๑) ส.ต.ต.รุ่งโรจน์ พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
๒) ส.ต.ต.วุฒิกรณ์ กุนมล ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
๓) ส.ต.ต.เกรียงไกร ไชยลิ้นฟ้า ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
๔) ส.ต.ต.สุนธี อุดมรักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์
๕) ส.ต.ต.พีรพัฒน์ ฟุ้งเจริญศักดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่
๖) ส.ต.ต.ศักดิ์ระพี เอมพรหม ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี
ซึ่งหลังจากสำเร็จการศึกษาและออกไปทำงานแล้วผมได้ติดตามอยู่ระยะหนึ่งก็รู้สึกว่าน้องๆ พวกนี้เขาทำได้ตามแนวคิดที่ให้ไว้ค่อนข้างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น